อาหารแต่ละมื้อที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวี่วันจริง ๆ แล้วเราอาจจะได้รับสารอาหารบางอย่างไม่เพียงพอได้ โดยเฉพาะในกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เพราะแม้จะมีอยู่ในอาหารที่เรารับประทาน แต่ก็อยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ อาจจะต้องกินเข้าไปในปริมาณมากถึงจะเพียงพอ ด้วยเหตุนี้จึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกมาเป็นทางเลือกเสริมมากมาย เอลเดอร์ก็เชื่อว่าลูก ๆ หลาน ๆ มักจะซื้อหามาให้ผู้สูงอายุที่บ้านรับประทานกัน แต่รู้หรือไม่ครับว่าเราไม่สามารถกินกันแบบสุ่มสี่สุ่มห้าตามใจนึกได้ เพราะยาหรืออาหารเสริมบางอย่างอาจกลายเป็นโทษได้หากรับประทานคู่กัน วันนี้ครับเอลเดอร์เลยรวบรวม 10 คู่เสี่ยงของยาและอาหารเสริมที่ไม่ควรรับประทานคู่กันมาฝาก ไว้เป็นแนวทางให้ทุกท่านสร้างความเข้าใจก่อนรับประทานครับ

วิตามินซีไม่ควรทานคู่กับวิตามินบี 12
เนื่องจากว่าวิตามินทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นวิตามินที่สามารถละลายน้ำได้ทั้งคู่ เมื่อรับประทานคู่กันก็จะเข้าไปละลายอยู่ในเลือดพร้อม ๆ กัน แล้วแย่งกันดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีวิตามินบางส่วนไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แล้วร่างกายไม่สามารถเก็บไว้ได้ด้วย ส่วนที่เหลือจากความต้องการจะถูกขับออกทางเหงื่อและปัสสาวะ ซึ่งต่างจากวิตามินแบบที่ละลายในไขมันที่ร่างกายสามารถกักเก็บไว้ตามชั้นไขมันได้

ธาตุเหล็กไม่ควรทานคู่กับชาเขียว
ใครที่รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกลุ่มชาเขียวสกัดหรือดื่มชาเขียวอยู่เป็นประจำต้องระวังไม่รับประทานร่วมกับธาตุเหล็ก เพราะธาตุเหล็กจะเข้าไปลดประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียว ทำให้เราได้รับประโยชน์จากชาเขียวได้ไม่เต็มที่

วิตามินอีไม่ควรทานคู่กับน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส
น้ำมันอิฟนิ่งพริมโรสที่ช่วยบำรุงสุขภาพสตรี ลดอาการวัยทอง และช่วยให้ผิวพรรณเนียนนุ่ม ชุ่มชื้น ลดอาการผิวแห้ง คัน บรรเทาอาการของโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) อาการไขข้ออักเสบ ข้อรูมาตอยด์ โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ไมเกรน ฟื้นฟูการทำงานของตับ และบรรเทาอาการผู้ที่มีปัญหาซิสต์ที่เต้านม หลาย ๆ คนไม่ทราบว่ามีวิตามินอีเป็นส่วนประกอบสำคัญ หากรับประทานร่วมกับวิตามินอีเข้าไปอีกก็อาจจะทำให้ได้รับวิตามินอีเกินความจำเป็นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการท้องอืด อาเจียน ท้องเสีย ตาพร่ามัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว แนะนำว่าวันหนึ่งไม่ควรรับประทานวิตามินอีเกิน 800 IU

ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรทานคู่กับน้ำมันปลา
ไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์น้ำมันปลาร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยากลุ่ม Warfarin ใครที่ป่วยแล้วรับยานี้อยู่รีบเช็กกันโดยด่วนเลยครับ เพราะน้ำมันปลาจะไปเสริมฤทธิ์ของยาทำให้เลือดของเราเหลวขึ้น อาจส่งผลให้เลือดเราออกง่ายและไหลไม่หยุดได้ ใครที่เลือดเปราะง่ายอยู่แล้วอาจเกิดจ้ำเลือดออกตามตัวไดด้เลยครับ
ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรทานคู่กับใบแป๊ะก๊วยและขิง
เช่นเดียวกับน้ำมันปลาเลยครับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรรับประทานอาหารเสริมจากสารสกัดของใบแป๊ะก๊วยและขิง รวมไปถึงชาขิงหรือน้ำขิง เพราะสารในใบแป๊ะก๊วยมีฤทธิ์ป้องกันการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ส่วนในขิงมีสารซาลิไซเลตซึ่งเป็นสารต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
แอสไพรินไม่ควรทานคู่กับน้ำมันปลา ขิงและใบแป๊ะก๋วย
เนื่องจากยาแอสไพรินมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดเช่นเดียวกับกลุ่มยา Warfarin ผู้ที่ใช้แอสไพรินอยู่จึงไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าอย่างน้ำมันปลา ใบแป๊ะก๊วย และขิงเพื่อเข้าไปเพิ่มฤทธิ์ของยา ซึ่งอาจจะทำให้เส้นเลือดเปราะ และเลือดออกง่ายตามมา
ยาต้านการแข็งตัวของเลือดไม่ควรทานคู่กับโคเอ็นไซม์คิวเท็น

การรับประทานโคเอ็นไซม์คิวเท็นร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดจะให้ผลในทางตรงข้ามกับน้ำมันปลา ขิง และใบแป๊ะก๊วย เพราะโคเอ็นไซม์คิวเท็นมีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัว อาจจะไปลดทอนประสิทธิภาพของยาต้านการแข็งตัวของเลือดลงได้
แคลเซียมไม่ควรทานคู่กับกาแฟ
หลาย ๆ ครั้งที่เราดื่มกาแฟเพื่อสุขภาพไม่ว่าจะเป็นกาแฟดำ กาแฟควบคุมน้ำหนัก หรือกาแฟผสมสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ควรจะดื่มพร้อมกับการรับประทานแคลเซียม เพราะคาเฟอีนในกาแฟจะไปลดการดูดซึมของแคลเซียม โดยดื่มกาแฟ 1 แก้ว ขนาด 180 มิลลิกรัม จะทำให้เสียแคลเซียมไป 4.3 มิลลิกรัมเลยทีเดียวครับ

แคลเซียมเสริมไม่ควรทานคู่กับแคลเซียมสดจากอาหาร
ร่างกายถ้าได้รับปริมาณแคลเซียมมากเกินไปก็ใช่ว่าจะดี หากเรารับประทานแคลเซียมที่เป็นอาหารเสริมแล้วไม่ควรดื่มนม หรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เพราะจะทำให้ไปสะสมในร่างกายอาจกลายเป็นนิ่วในไต หรือแคลเซียมจะกลายเป็นหินปูเกาะตามผนังหลอดเลือดจนทำให้หลอดเลือดตีบตันได้ เสี่ยงต่อโรคหัวใจขากเลือดและเส้นเลือดสมองตีบ แนะนำว่าไม่ควรได้รับเกิน 1200 มิลลิกรัมต่อวัน
ธาตุเหล็กไม่ควรทานคู่กับแคลเซียม
การรับประทานธาตุเหล็กร่วมกันแคลเซียมจะทำให้แร่ธาตุทั้งสองตัวนี้แย่งกันดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย โดยแคลเซียมจะไปลดการดูดซึมของธาตุเหล็กลง 30-40% เลยทีเดียวครับ ดังนั้น เราจึงไม่ควรรับประทานทั้งสองพพร้อมกัน ไม่เช่นนั้นแล้วเราอาจจะได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอได้

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับทั้ง 10 ยาและอาหารเสริมคู่เสี่ยงที่ไม่ควรรับประทานคู่กันที่เอลเดอร์ได้รวบรวมมาฝาก ท่านใดที่รับประทานวิตามินและอาหารเสริมอยู่อยากให้กลับไปสำรวจตัวเองดูว่ารับประทานกันอย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าหากว่ายังไม่ถูกต้องล่ะก็รีบปรับเปลี่ยนโดยด่วนนะครับ อย่างน้อยก็ควรรับประทานแต่ละชนิดห่างกัน 2 ชั่วโมงขึ้นไป ท่านที่มีโรคประจำตัวก็ถือติดมือไปสอบถามแพทย์จะชัวร์ที่สุดครับ แล้วทุกท่านจะใช้ยาและอาหารเสริมได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพมากยิ่งขึ้นยังไงล่ะครับ
ที่มา