ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย “ภาวะเลือดเป็นกรด” เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับคีโตน และน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากผู้ที่ป่วยโรคของไต โรคมะเร็ง ผลข้างเคียงจากยาต่าง ๆ รวมถึงผู้สูงวัยที่มีภาวะร่างกายขาดออกซิเจนเช่น จากอาการลมชัก จากภาวะช็อก และภาวะขาดน้ำรุนแรง
ทำความรู้จัก “ภาวะเลือดเป็นกรด”
ภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) คือ ภาวะความผิดปกติของเลือดหรือของเหลวในร่างกายที่ไม่สมดุล ทำให้มีความเป็นกรดสูง ในทางการแพทย์จะยึดเกณฑ์ค่าพีเอช (pH) ของเลือดที่วัดได้ต่ำกว่า 7.35 ลงมาถึงจะจัดว่าร่างกายมีภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งอาจเกิดได้จากสภาวะหรือโรคต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
“ภาวะเลือดเป็นกรด” คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับคีโตน และน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ ซึ่งเกิดมาจากการที่ร่างกาย ไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้ ตับ จึงทำหน้าที่เผาผลาญไขมัน เพื่อให้เกิดพลังงานขึ้นทดแทน พลังงานเหล่านั้นเรียกว่า คีโตน (Ketone) โดยร่างกาย จะปล่อยคีโตนที่ได้ เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน โดยกระบวนการนี้ถูกเรียกว่า คีโตซิส (Ketosis)
“ภาวะเลือดเป็นกรด” ความเป็นกรด-ด่าง หรือ ค่า pH
ความเป็นกรด-ด่าง หรือ pH ของเลือด/ของร่างกายจะเป็นตัวช่วยให้การทำงานของเซลล์ และของเนื้อเยื่อทุกชนิดให้ทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งโดยทั่วไปเลือดของคนปกติจะมีค่าความเป็นกรดด่างอยู่ในช่วง 7.35 – 7.45 แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ค่า pH ของเลือดต่ำกว่า 7.35 จะจัดว่าร่าง กาย/เลือดมี ซึ่งค่า pH ของร่างกายนี้แพทย์ตรวจทราบได้จาก อาการผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือด และจากการตรวจปัสสาวะดูค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ
สาเหตุของ “ภาวะเลือดเป็นกรด”
ภาวะเลือดเป็นกรดมีสาเหตุเกิดจากอะไร วันนี้เอลเดอร์มีคำตอบมาฝากผู้สูงวัยทุกท่านครับ โดยเลือดเป็นกรด จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีกรดสะสมอยู่ในปริมาณมาก หรือสูญเสียความเป็นด่างไป ดังนี้
1. เกิดจากระบบหายใจ ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อปอดไม่สามารถขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจได้เพียงพอ จึงเกิดการสะสมของก๊าซภายในร่างกายเป็นจำนวนมากจนทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- โรคทางเดินหายอุดกั้นใจเรื้อรัง
- การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก
- ภาวะหรือโรคอ้วน ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก
- การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทอย่างไม่เหมาะสม ทำให้การหายใจลดลง
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณที่พอดี
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
- โครงสร้างของหน้าอกผิดรูปร่าง เช่น หลังค่อม
- กล้ามเนื้อหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่แข็งแรง
2. เกิดจากกระบวนการเผาผลาญ ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถขจัดสารที่มีความเป็นกรดออกในปริมาณที่พอดีหรือกำจัดสารที่มีความเป็นด่างมากเกินไป เกิดจากสาเหตุดังนี้
- การคั่งของสารคีโตซีส พบในผู้สูงวัยที่ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ เนื่องจากจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสร้างสารคีโตนปริมาณมากและเปลี่ยนเป็นกรดในเลือด
- ภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับคลอไรด์ในเลือดสูง (Hyperchloremic Acidosis) เป็นผลมาจากการสูญเสียโซเดียมไบคาร์บอเนตออกจากร่างกายมาก ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้สภาวะของเลือดมีความเป็นกลาง อาจเกิดจากท้องเสียรุนแรง
- ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง (Lactic Acidosis) เกิดขึ้นเมื่อกรดแลคติกสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมากจากหลายปัจจัย เช่น การติดสุราเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็ง โรคลมชัก ตับวาย ภาวะขาดออกซิเจน ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ การออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้ยาในกลุ่มซาลิซัยเลท (Salicylates) ตับวายหรือตับล้มเหลว การติดเชื้อในกระแสเลือด
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น อาเจียน ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ไตผิดปกติในการขับกรด
การป้องกัน “ภาวะเลือดเป็นกรด” สำหรับผู้สูงวัย
หลังจากทราบสาเหตุการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุแล้ว สิ่งสำคัญที่เอลเดอร์มองว่าผู้สูงวัยไม่ควรมองข้ามคือแนวทางการป้องกันหรือการดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อช่วยสามารถลดความเสี่ยง หรือความรุนแรงในการเกิดภาวะนี้ได้ แบ่งเป็น การป้องกันจากภาวะกรดจากระบบหายใจ และการป้องกันจากกระบวนการเผาผลาญ ดังนี้
1) การป้องกันจากภาวะกรดจากระบบหายใจ
- การทานยาระงับประสาทหรือยานอนหลับ (Sedatives) ควรใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและห้ามใช้ควบคู่กับแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะทำลายปอดและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ตามมา รวมทั้งหายใจได้ลำบากขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอ้วนและปัญหาในการหายใจได้ลำบาก
2) การป้องกันจากกระบวนการเผาผลาญ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และติดตามการรักษาสม่ำเสมอซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการคั่งของสารคีโตนในเลือด
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่พอดีต่อวัน เพราะการดื่มอย่างหนักจะเพิ่มการสะสมของกรดแลคติกที่มากขึ้นในเลือดและทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
- ควรทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือข้อบ่งใช้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด
ภาวะเลือดเป็นกรด เป็นภาวะที่ผู้สูงวัยสามารถป้องกันได้จากพฤติกรรมสุขภาพ การกิน และการใช้ชีวิต เพราะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด เอลเดอร์อยากให้ทุกท่านสนใจดูแลตัวเองก่อนที่จะสายเกินไปดีกว่าครับ
ข้อมูลอ้างอิง
https://bit.ly/3XrOBuF
https://bit.ly/3OwSRFl
https://bit.ly/2Pe09D2
https://bit.ly/3U2xqgz