การรักษาโรคในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย รวมไปถึงแพทย์แผนจีน เพราะความรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมีส่วนทำให้วิธีการความเชื่อและศาสตร์การรักษานั้นแตกต่างกันออกไป วันนี้เอลเดอร์จึงนำข้อมูลการรักษาที่มีมายาวนานหลายพันปีอย่าง การฝังเข็ม มาแนะนำสำหรับให้ที่กำลังสนใจจะไปลองฝังเข็มเพื่อรักษาโรคมาแบ่งปันกัน เผื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค การฝังเข็มถือเป็นเวชกรรมการรักษาโรคของจีน ที่สามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ โดยหมอฝังเข็มจะใช้เข็มปักตามตำแหน่งจุดเฉพาะต่างๆ ของร่างกาย มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับสมดุลร่างกาย

ปัจจุบันการฝังเข็มได้แพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสนใจและเป็นแกนนำในการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประชุมในปี ค.ศ. 1979 ที่นครปักกิ่ง และได้ร่าง “ รายชื่ออาการหรือโรคที่อาจพิจารณาให้การฝังเข็มเป็นทางเลือกในการรักษาจำนวน 43 ประเภท”
การฝังเข็มคืออะไร
การฝังเข็ม คือ การแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกายโดยใช้หลักการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยเข็มที่ใช้จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กกว่าเข็มฉีดยา จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย และเป็นเข็มปลอดเชื้อแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ป่วยจึงปลอดภัยจากการติดเชื้อ
หลายคนอาจคิดว่าการฝังเข็มนั้นมีแบบเดียวคือใช้เข็มขนาดเล็กเท่าเส้นผมปักๆ เข้าไปบนร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นที่หัว ที่ตัว หลัง แขน ขา หรือแม้กระทั่งบนใบหน้า แต่ที่จริงแล้วการฝังเข็มนั้นมีด้วยกัน 2 แบบ คือ การฝังเข็มแบบจีน (Acupuncture) และการฝังเข็มแบบตะวันตก (Dry Needling) แต่ที่นิยมกันมากคือ การฝังเข็มแบบจีน
ขั้นตอนการฝังเข็ม
โดยทั่วไป ควรฝังเข็มประมาณสัปดาห์ละหนึ่งถึง 3 ครั้ง ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 ครั้ง หรือ ขึ้นกับพิจารณาของแพทย์ หรือ อาการของผู้ป่วย
แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กมาก (0.1-0.3mm) (ขนาดเข็มเล็กกว่าเข็มฉีดยาทั่วไปประมาณ 6-8 เท่า จึงเจ็บน้อยกว่า ส่วนใหญ่จะเจ็บเพียงเล็กน้อย) ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย อาจใช้มือหมุนเข็มเพื่อกระตุ้นเล็กน้อย หรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หลังจากนั้นถอนเข็มออก
การเตรียมตัวก่อนและระหว่างการรักษา
– ทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อยเพื่อลดการติดเชื้อ
– สวมใส่เสื้อผ้าที่สบายไม่รัดแน่นจนเกินไป
– ควรรับประทานอาหารก่อนมาฝังเข็มประมาณ 1-2 ชม.
– พยายามอย่าขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ฝังเข็ม เพราะเข็มจะบิดในกล้ามเนื้อ
หลังจากการฝังเข็มควรดูแลตัวเอง ดังนี้
– ควรดื่มน้ำอุ่นหลังการฝังเข็ม
– สำรวจร่างกายตนเองบริเวณฝังเข็ม ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออก มีรอยบวม รู้สึกเจ็บปวดต้องแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบทันทีเพื่อแก้ไขให้เป็นปกติก่อนกลับบ้าน
– งดการอาบน้ำเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังการฝังเข็ม
– พักผ่อนให้เต็มที่อีก 1 วัน
– ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ตามปกติ อาการจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยไม่มีอันตรายใด ๆ
ประโยชน์ของการฝังเข็ม
เป็นการป้องกันและรักษาโรควิธีหนึ่งของการแพทย์แผนจีน โดยประยุกต์ใช้ตามการวินิจฉัยแยกโรค ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีการแพทย์จีน สรรพคุณโดยทั่วไปสามารถช่วยแก้ไขอาการต่างๆ ได้แก่
–อาการปวด : ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เวียนศีรษะ บ้านหมุน ปวดเข่า เข่าเสื่อม ปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ หมอนรองกระดูก-กระดูกทับเส้นประสาท ปวดไหล่ ไหล่ติด ปวดข้อศอก ปวดข้อเท้า ปวดฝ่าเท้า เอ็นอักเสบ ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนผิดปกติ
– ภาวะร่างกาย : นอนไม่หลับ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ภูมิแพ้ หอบหืด รูมาตอยด์ โรคกระเพาะ กรดไหลย้อน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต อัมพาตใบหน้า
– ปรับสมดุลร่างกายให้แข็งแรง : เพิ่มภูมิต้านทาน ฝังเข็มกระชับใบหน้า ความงาม ลดความอ้วน
– การปรับสมดุลของอินและหยาง
ข้อสำคัญควรระวังคือ ศึกษาข้อมูลของแพทย์ผู้ทำการฝังเข็ม เพื่อความปลอดภัยในการรักษาควรเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยตรงมีใบรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือหากยังไม่ทราบว่าอาการเจ็บป่วยดังกล่าวมีสาเหตุจากอะไรแนะนำให้ปรึกษาและวินิจฉัยกับแพทย์แผนปัจจุบันให้แน่นอนก่อน ทั้งนี้ผู้ที่ไม่ควรฝังเข็ม ได้แก่ ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ต้องให้การรักษาอย่างระมัดระวัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน) ผู้ป่วยโรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด โรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โรคที่ยังไม่ทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน
เอกสารอ้างอิง
1. การฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร
2. ฝังเข็มศาสตร์จีน : ฝังเข็มคืออะไร ? รักษาโรคอะไรได้บ้าง ?
3. ฝังเข็มคืออะไร รักษาโรคอะไรบ้าง การฝังมี 2 แบบ คืออะไรบ้าง
4. การฝังเข็ม (Acupuncture)