สวัสดีครับวันนี้น้องเอลเดอร์ขอนำเสนอประเด็นที่กำลังถูกพูดเป็นอย่างมาก ณ ขณะนี้ คือเรื่องสรรพคุณของถั่งเช่า ที่บางคนก็บอกว่าดีจนเหมือนเป็นยาวิเศษ ในขณะที่นักวิชาการบางท่านออกมาบอกว่ามีการโฆษณาสรรพคุณของสมุนไพรตัวนี้เกินจริง จนอาจเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน นอกจากนี้ข้อควรระวังในการรับประทานถั่งเช่าก็ยังไม่เป็นที่ทราบมากนัก แล้วเราในฐานะผู้บริโภค ยังควรเลือกซื้อถั่งเช่ามารับประทานอยู่อีกหรือไม่ มาติดตามไปพร้อมๆกันได้ในบทความนี้ครับ
ถั่งเช่าคืออะไร
ก่อนจะทราบถึงสรรพคุณของถั่งเช่า เรามาทำความรู้จักกับสมุนไพรชนิดกันก่อนนะครับ ในปัจจุบันถั่งเช่าที่เป็นที่รู้จักมี 4 ชนิด ได้แก่
1. ถั่งเช่าทิเบต (Ophiocordyceps sinensis)

ถั่งเช่าชนิดนี้จัดเป็นถั่งเช่าแท้ที่มีราคาสูงที่สุดเนื่องจากหาได้ยาก ถั่งเช่าแท้จริงแล้วเป็นกลุ่มราที่เจริญเติบโตในแมลง โดยถั่งเช่าทิเบตจะเติบโตจากตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืนที่อยู่บนเทือกเขาหิมาลัย
เชื้อราจะฝังสปอร์บนตัวหนอนในช่วงฤดูหนาวของแถบภูมิประเทศจีน ทิเบตและภูฏาน โดยใช้สารอาหารบนตัวหนอนเพื่อเจริญเติบโต แล้วสร้างเส้นใยจนอัดแน่นและทะลุออกมาเป็นเส้นยาวๆ ที่จะพบเห็นในช่วงหน้าร้อน ชาวเอเชียได้มีการนำถั่งเช่าทิเบตมาใช้เป็นยาสมุนไพรกว่าพันปี โดยจัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์บํารุงกำลังได้อย่างดี ถั่งเช่าทิเบตจึงเป็นที่นิยมบริโภคตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยิ่งเป็นถั่งเช่าทิเบตที่ขึ้นตามธรรมชาติจะยิ่งมีราคาสูง นอกจากนี้ยังมีการการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าทิเบตในห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ผลิตเป็นยาสมุนไพรรูปแบบต่างๆในปัจจุบัน
2. ถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris)
ถั่งเช่าสีทองมีการเพาะกันเป็นการค้ามานานหลายสิบปี แล้วที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และอเมริกา ถั่งเช่าสีทองสามารถทําการเพาะได้โดยใช้ตัวหนอนเพาะหรือใช้อาหารสังเคราะห์ สามารถชักนําให้เป็นดอกเห็ดได้โดยใช้อากาศเย็น ถั่งเช่าที่วางขายทั่วไปในขณะนี้โดยมากเป็นถั่งเช่าสีทอง มีรายงาน
หลายฉบับยืนยันว่า ถั่งเช่าสีทองมีคุณสมบัติเทียบเท่าถั่งเช่าทิเบต ในขณะเดียวกันก็มีบางรายงานแสดงถึงการมีสารปนเปื้อนของโลหะหนักในถังเช่าสีทอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้หากรับประทานในปริมาณมาก
3. ถั่งเช่าจักจั่น (Paecilomyces cicadae or Isaria sinclairii)
ถั่งเช่าจักจั่น เป็นดอกเห็ดที่ขึ้น บนตัวอ่อนของจักจั่น สามารถเพาะเลี้ยงได้โดยไม่ต้องอาศัยห้องเย็น มีสรรพคุณที่โดดเด่นคือการบำรุงดวงตา ป้องกันต้อหิน การติดเชื้อไวรัสลงตา (งูสวัด) และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท
4. ถั่งเช่าหิมะ (Isaria tenuipes)
ถั่งเช่าหิมะ หรือถั่งเช่าเกาหลี นิยมเพาะเลี้ยงโดยใช้หนอนไหม ชาวเกาหลีนำมาบริโภคโดยการอบแห้งทําเป็นผงใช้ปรุงอาหารต่างๆ มีสรรพคุณที่น่าสนใจคือลดฝ้า จึงถูกนำมาผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิวพรรณ นอกจากนี้ยังมีรายงานสรรพคุณของถั่งเช่าชนิดนี้ในการลดคลอเรสเตอรอล ไขมัน น้ำตาลในเลือด และลดความอ้วน
สรรพคุณของถั่งเช่า
ถั่งเช่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาตั้งแต่ปี 1964 โดยมีการศึกษาสารสกัดจากถั่งเช่า พบว่ามีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารอินทรีย์กลุ่มโพลีแซคคาไรด์ (galactomannan), นิวคลีโอไทด์ (adenosine, cordycepin), กรดอะมิโน และสเตอรอล (ergosterol, beta-sitosterol) รวมทั้งยังพบ วิตามิน E, K, B1, B2 และ B12 และแร่ธาตุ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี และซิลิเนียม เป็นต้น
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการศึกษาสรรพคุณของถั่งเช่าทั้งในทางแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนปัจจุบันเรื่อยมา โดยพบว่าถั่งเช่ามีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายในหลายระบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของถั่งเช่า ปริมาณการรับประทานและสุขภาพของผู้บริโภคแต่ละบุคคล น้องเอลเดอร์จึงขอสรุปสรรพคุณของถั่งเช่าในภาพรวมจากการรวบรวมรายงานการศึกษาทางการแพทย์นะครับ

ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวกลุ่ม Natural Killer Cell ที่ทำหน้าที่กำจัดเชื้อไวรัสและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงทำลายเซลล์มะเร็ง ดังนั้นถั่งเช่าจึงมีฤทธิ์ในการเสริมสร้างทำให้ภูมิต้านทาน บำรุงการทำงานของไต ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการหมุนเวียนของเลือด ทำให้ลดอาการอาการอ่อนเพลีย ไม่เหนื่อยง่าย และรู้สึกมีเรี่ยวแรง ดังนั้นถั่งเช่าจึงมีฤทธิ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายและการออกกำลัง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ อันเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดความชราของเซลล์และมะเร็ง
ทางเลือกในการบริโภคถั่งเช่าในปัจจุบัน
การนำถั่งเช่ามารับประทานเป็นอาหารเสริมนั้นสามารถทำได้ทั้งแบบรับประทานสด นำมาต้ม หรือบดเป็นผงแล้วบรรจุในแคปซูล ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่าถั่งเช่าทิเบตนั้นมีราคาแพง เนื่องจากหาได้ยากตามธรรมชาติและเป็นที่นิยมสูงกว่าชนิดอื่นๆ เนื่องจากเชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกายได้ดีที่สุด ดังนั้นจึงได้มีการเพาะเลี้ยงถั่งเช่าชนิดอื่นๆมาใช้ทดแทนแต่ประสิทธิภาพที่ได้อาจยังยังไม่เท่ากับถั่งเช่าที่เติบโตจากธรรมชาติ

เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อมารับประทานเพื่อบำรุงร่างกายได้ในราคาที่ไม่สูงมาก ดังที่เราจะได้ยินข่าวหรือโฆษณาบ่อยครั้งในช่วงนี้คือ “ถั่งเช่าสีทอง” โดยสารสำคัญจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีหรือเทคนิคการเพาะเลี้ยง ซึ่งองค์การอาหารและยาได้ระบุให้ใช้อาหารเพาะเลี้ยงถั่งเช่าที่มีคุณภาพระดับที่ใช้เป็นอาหารมนุษย์ได้ (food grade) เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการควบคุมระดับสารปนเปื้อนและเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ดังนี้
– สารหนู Arsenic (As) ไม่เกิน 2 mg/kg
– ตะกั่ว Lead (Pb) ไม่เกิน 1 mg/kg.
– ปรอท Mercury (Hg). ไม่เกิน 0.5 mg./kg.
– Escherichia coli น้อยกว่า 3.0 MPN/g.
– Salmonella spp. S ไม่พบในอาหาร 25 g
– Staphylococcus aureus. ไม่พบในอาหาร 0.1 g.
ข้อควรระวังในการบริโภคถั่งเช่า
แม้จะมีการอ้างว่าถั่งเช่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกายมากมาย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ได้ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ พันธุกรรมและโรคประจำตัวของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน
1. ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องความคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรระวังการรับประทานถั่งเช่า เนื่องจากมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ที่อาจจะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าที่ควรได้ นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการหน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลียและหมดสติได้ เป็นต้น
2. ควรระวังการใช้ถั่งเช่าในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดที่มักใช้รักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
3. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive) ทั้งนี้เพราะว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันที่อาจจะได้ต้านการออกฤทธิ์ของยา เช่น ในผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายอวัยวะที่มีความจำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดการต่อต้านอวัยวะใหม่ในร่างกายตนเอง นอกจากนี้กลุ่มของคนไข้ที่มีเชื้อ HIV ต่ำ เช่น มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะอาจจะเกิดปัญหาการติดเชื้อราได้
4. ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps โดยจะทำผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ
5. ประโยชน์ โทษ และความปลอดภัยในการรับประทานถั่งเช่าในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็ก ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ คนในกลุ่มนี้จึงควรหลีกเรื่องการรับประทานถั่งเช่าเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
6. ถั่งเช่าแบบตัวๆ ไม่ควรทานเกิน 3-9 กรัมวัน ส่วนแบบแคปซูลควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาในการรับประทาน
7. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตรับประทานถั่งเช่า ในวันที่ 2 ก.พ.2564 เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีภาวะไตเสื่อมภายหลังรับประทานถั่งเช่า นอกจากนี้ ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนพบมีโลหะหนัก Arsenic ในปริมาณสูงซึ่งทราบกันดีว่าเป็นพิษต่อไต สำหรับผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสีทองที่ได้จากการเพาะเลี้ยงก็ยังขาดข้อมูลเรื่องของความปลอดภัยในการรับประทาน และส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้
ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อถั่งเช่าตามท้องตลาดมารับประทาน ควรศึกษาข้อมูลโภชนาการ ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตโดยบริษัทที่เชื่อถือในมาตรฐานและความปลอดภัยได้ สำรวจสัญลักษณ์การรับรองคุณภาพโดย อย. และปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ท่านมีโรคประจำตัวหรือต้องรับประทานยาเป็นประจำ เพราะถั่งเช่าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่สามารถใช้รักษาโรคแทนยาได้ และที่สำคัญคือยังขาดข้อมูลด้านสรรพคุณ และผลข้างเคียงต่อสุขภาพอีกมาก จึงไม่ควรหลงเชื่อสรรพคุณเกินจริงตามคำโฆษณาและไม่ควรหยุดยาแผนปัจจุบันที่รับประทานอยู่ การรักษาสุขภาพที่ดีที่สุดจึงการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารและยาตามที่แพทย์แนะนำนั่นเอง
อ้างอิง
– https://www.facebook.com/219186678564393/posts/1071336433349409/
– https://www.facebook.com/686903858081989/posts/3218882714884078/
– http://hsst.or.th/wp-content/uploads/journal/journal2-62.pdf
– https://www.fda.moph.go.th/sites/food/Permission/GoldenBucket.pdf
– http://www.facagri.cmru.ac.th/2013/wp-content/uploads/2015/02/poster-cordyceps.pdf
– https://www.bangkokhospital.com/content/royal-cordyceps-emperor-of-stimulant
– https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess/posts/583393138810410