โรคไต คือภาวะที่ไตมีการทำงานผิดปกติ หรือมีการทำงานของไตที่ลดลง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการมีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดัน โรคไตอักเสบ รวมถึงโรคนิ่วในไต นอกจากนี้ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคไตเช่นเดียวกัน   

เนื่องจากผู้ป่วยโรคไต ต้องระมัดระวังเรื่องการทานอาหารเป็นพิเศษ จะเลือกกินหรือดื่มอะไรก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่ามันจะส่งผลต่อโรคไตที่เป็นอยู่หรือไม่ เช่น มีปริมาณโซเดียม ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมสูงเกินไปหรือไม่ แล้วอาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดควรหรือไม่ควรกิน ดังนั้นเราไปดูกันว่าผู้ป่วยโรคไต เลือกเครื่องดื่มอย่างไร ไม่ทำลายสุขภาพ

กลุ่มที่ 1 เครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้ตามต้องการ

1. น้ำเปล่า

จะเรียกว่าเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุดของผู้ป่วยโรคไตเลยก็ว่าได้ สำหรับน้ำเปล่า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นน้ำธรรมดา น้ำอุ่น หรือน้ำใส่น้ำแข็ง ทั้งหมดนี้ผู้ป่วยไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรังสามารถดื่มได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูด้วยว่าเรามีการปัสสาวะปกติหรือไม่ หากมีการปัสสาวะมากผิดปกติ จะต้องมีการควบคุมปริมาณน้ำดื่มด้วยครับ

กลุ่มที่ 2 เครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้เล็กน้อย หรือควรหลีกเลี่ยง

1. น้ำสมุนไพรต่างๆ

น้ำสมุนไพรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำขิง น้ำใบเตย น้ำดอกอัญชัน น้ำเก๊กฮวย เครื่องดื่มเหล่านี้ผู้ป่วยโรคไตสามารถดื่มได้ครับ แต่ควรดื่มในปริมาณที่ไม่เข้มข้นมากนัก นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคไตหรือไตเสื่อมที่มีเบาหวานร่วมด้วย ให้ระวังน้ำตาลด้วยครับ เพราะเมื่อเป็นโรคไตแล้วการกินน้ำตาลมากก็อาจจะมีผลต่อค่าไตได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าจะดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ แนะนำว่าให้ดื่มแบบไม่ใส่น้ำตาล หรือใช้สารให้ความหวานทดแทนก็ได้ครับ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟอกไต ต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มด้วยนะครับ

2. นมทุกชนิด

เครื่องดื่มจากนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมจืด นมหวาน นมเปรี้ยว นมพร่องมันเนย ตระกูลนมเหล่านี้จะมีค่าฟอสฟอรัสสูงมากๆ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 1 – 2 อาจจะดื่มได้บ้างเล็กน้อย ในขณะเดียวกันถ้าเป็นระยะที่ 1- 2 แต่ตรวจพบว่ามีค่าฟอสฟอรัสสูงเกิน หรือเป็นโรคไตระยะที่ 3, 4, 5 แล้ว ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มจากนมทุกชนิดอย่างเด็ดขาดครับ

3. ชา กาแฟ น้ำอัดลม

สำหรับเครื่องดื่มยอดฮิตที่หลายคนสงสัยว่าผู้ป่วยโรคไตสามารถดื่มได้หรือไม่ก็คือ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ถ้าถามว่าดื่มได้หรือไม่ ต้องบอกว่าถ้าเป็นระยะแรกคือระยะ 1 – 2 และไม่มีค่าฟอสฟอรัสเกิน เครื่องดื่มอย่างชา และกาแฟก็ยังสามารถดื่มได้เล็กน้อย แต่ถ้าเป็นโรคไตในระยะที่ 3, 4, 5 แล้ว อีกทั้งมีค่าฟอสฟอรัสที่สูงเกิน ทั้งชา กาแฟ และน้ำอัดลม เหล่านี้ดื่มไม่ได้อย่างเด็ดขาดครับ เพราะมันจะมีผลต่อการขับของเสียออกจากไต และจะมีผลต่อร่างกายด้วย เนื่องจากถ้าร่างกายมีค่าฟอสฟอรัสเกินจะส่งผลให้เกิดภาวะผิวไหม้ ผิวแห้ง และคันได้ ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงไม่ดื่มได้จะดีที่สุดครับ

เครื่องดื่มชาที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถดื่มได้ ควรเป็นชาร้อนแบบไม่เติมน้ำตาลหรือใช้สารให้ความหวานทดแทน ไม่แนะนำให้ดื่มชาสำเร็จรูปที่ใส่ขวดแช่เย็น เพราะส่วนใหญ่จะมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง โดยน้ำชาร้อน 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) จะมีค่าฟอสฟอรัสประมาณ 20 มิลลิกรัม หากจะดื่มแนะนำว่าครั้งละครึ่งแก้วก็พอครับ

สำหรับกาแฟ หากจะดื่มแนะนำเป็นกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล ไม่เติมนม หรือครีมเทียม และไม่ควรดื่มกาแฟแบบ 3 in 1 เพราะจะทำให้เราได้รับฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้นจากเดิม ปริมาณการดื่มไม่ควรเกิน 2 แก้วต่อวัน (1 แก้วไม่เกิน 2 ช้อนชา) ซึ่งกาแฟดำ 2 ช้อนชา มีฟอสฟอรัส (ฟอตเฟส) อยู่ที่ประมาณ 6 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณฟอสฟอรัสที่ผู้ป่วยโรคไตจะต้องควบคุมต่อวันซึ่งอยู่ที่ไม่เกิน 800 มิลลิกรัมต่อวัน

4. น้ำหวาน

น้ำหวานทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นน้ำแดง น้ำเขียว หรือน้ำสีอะไรก็ตามที่หวานๆ รวมถึงน้ำเชื่อม จะต้องควบคุมปริมาณอย่างเข้มงวด คือถ้าเป็นโรคไตระยะที่ 1 – 2 สามารถดื่มได้บ้างเล็กน้อย ในปริมาณที่จำกัด แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะ 3 ขึ้นไป แนะนำว่าห้ามดื่มอย่างเด็ดขาด และยิ่งบางคนมีภาวะเบาหวานร่วมด้วย อันนี้ต้องห้ามดื่มน้ำหวานตั้งแต่ระยะแรกเลย เพราะมันจะส่งผลให้ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสฟอกไตได้ในที่สุด

5. โซดา

ถ้าถามว่าผู้ป่วยโรคไตสามารถดื่มโซดาได้หรือไม่ ตอบเลยว่าสามารถดื่มได้ แต่ไม่ใช่ดื่มทุกมื้อหรือทุกวัน แทนน้ำเปล่า  และไม่แนะนำให้ดื่มน้ำโซดาเพียวๆ แนะนำว่าให้ชงกับน้ำมะนาวสดๆ ดื่มเป็นน้ำมะนาวโซดาก็ได้ แต่บางคนก็อยากให้มีรสหวานเล็กน้อยก็ให้ใส่สารให้ความหวานทดแทน หรือจะเลือกเป็นน้ำผึ้งแท้ก็ได้ แต่ข้อสำคัญคือห้ามใส่เกลือลงไปอย่างเด็ดขาด เท่านี้ท่านก็จะได้เครื่องดื่มที่สดชื่นดื่มแทนน้ำอัดลม หรือดื่มแทนน้ำเกลือแร่สำหรับคนที่ออกกำลังกายแล้วครับ 

6. น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง

สำหรับน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองนั้น ผู้ป่วยโรคไตสามารถดื่มได้ แต่แนะนำให้เป็นน้ำเต้าหู้สดๆ แบบไม่ผสมนมผง นมสด หรือนมข้น จะดีที่สุด หรือจะทำน้ำเต้าหู้ไว้ดื่มเองก็ได้ครับ ซึ่งจะทำให้เรามั่นใจได้ว่าไม่มีการเติมแต่งผลิตภัณฑ์นมใดๆ ลงไปในน้ำเต้าหู้ด้วย…วิธีการไม่ยาก โดยเอาถั่วเหลืองมาล้างให้สะอาด แล้วบดหรือปั่น จากนั้นเอามาต้มต่อให้เกิดเป็นน้ำเต้าหู้ ซึ่งสารอาหารต่างๆ จะไม่เข้มข้นมากนักโดยเฉพาะฟอสฟอรัส โดยน้ำเต้าหู้ 240 มิลลิลิตร จะมีฟอสฟอรัสประมาณ 40 มิลลิกรัมเท่านั้น

กลุ่มที่ 3 เครื่องดื่มที่ห้ามดื่มอย่างเด็ดขาด

1. น้ำแร่

แม้สีสันและรสชาติจะไม่ได้แตกต่างกับน้ำเปล่ามากนัก แต่น้ำแร่จะมีวิตามิน เกลือแร่ และแร่ธาตุต่างๆ หลากหลายชนิดรวมอยู่ในน้ำด้วย เมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะส่งผลให้ไตทำงานหนัก และอาจขับแร่ธาตุเหล่านี้ออกไม่ได้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตไม่แนะนำให้ดื่มน้ำแร่นะครับ

2. น้ำผักผลไม้ปั่น/แยกกาก

บางครั้งผู้ป่วยโรคไตก็อยากจะลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพบ้าง โดยการดื่มน้ำผักผลไม้ ก็เอาผักผลไม้ไปปั่นหรือแยกกาก ซึ่งการทำแบบนี้อาจทำให้ได้เครื่องดื่มที่มีค่าโพแทสเซียมสูงเกิน เนื่องจากต้องใช้ผักและผลไม้ในปริมาณมากมาปั่นรวมกันเพื่อจะให้ได้น้ำ 1 แก้ว  เมื่อดื่มเข้าไปจะมีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือถ้าเกินเยอะๆ ก็มีผลทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ ดังนั้นเครื่องดื่มกลุ่มนี้จึงควรระวัง หรือหลีกเลี่ยงได้จะดีที่สุด

แต่ถ้าอยากทานจริงๆ แนะนำให้ทานผลไม้สดๆ จะดีกว่า เพื่อจะได้ช่วยคุมปริมาณโพแทสเซียมไม่ให้สูงเกินด้วย เนื่องจากผู้ป่วยไตต้องคุมปริมาณโพแทสเซียม โดยปริมาณผลไม้ที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถทานต้องไม่เกิน 5 – 6 ชิ้นคำต่อมื้อเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น มะม่วง ทุเรียน ขนุน ลิ้นจี่ เงาะ และลำไย เป็นต้น เนื่องจากโพแทสเซียมจะส่งผลให้ผู้ป่วยโรคไตมีหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ และอาจเกิดหัวใจหยุดเต้นเลยก็เป็นได้

3. เครื่องดื่มเกลือแร่และเครื่องดื่มชูกำลังทุกชนิด

เครื่องดื่มกลุ่มนี้ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรดื่มอย่างเด็ดขาด ถึงแม้จะมีการออกกำลังกายทุกวัน สูญเสียเหงื่ออย่างมากไปกับการออกกำลังกาย ถามว่าสามารถดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่หรือเครื่องดื่มชูกำลังให้สดชื่นขึ้นได้หรือไม่ ก็ต้องยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเครื่องดื่มพวกเกลือแร่จะมีทั้งปริมาณโซเดียมและน้ำตาลสูง รวมถึงมีปริมาณแร่ธาตุต่างๆ สูงเกินกว่าที่ไตของเราจะขับออกไปได้ ซึ่งจะมีผลให้ของเสียคั่งค้าง ไตทำงานหนัก และมีผลให้ไตเสื่อมลงได้มากขึ้น แนะนำว่าถ้าท่านออกกำลังกาย เสียเหงื่อ และกระหายน้ำก็ให้ดื่มน้ำเปล่าใส่น้ำแข็งเย็นๆ จะดีกว่าครับ       

และทั้งหมดนี้ก็คือคำตอบของคำถามที่ว่า เครื่องดื่มอะไร ที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถดื่มได้บ้าง ซึ่งผู้ป่วยโรคไต ไม่ว่าจะเป็นไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง ก็สามารถเลือกเครื่องดื่มที่ชอบ และเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพได้ เพื่อจะได้ช่วยดูแลรักษาสุขภาพไต ช่วยยืดอายุไตให้อยู่กับเราได้ไปนานๆครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
– https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=811
– https://eatwellconcept.com/2020/07/09/ผู้ป่วยโรคไต-กินกาแฟ-ได้/
https://www.youtube.com/watch?v=w-Ulxvfjy_I
http://www.kidneymeal.com/ความรู้อาหารโรคไต/drink/

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top