ร่างกายของมนุษย์นั้นมีไขมันเป็นองค์ประกอบในอวัยวะต่างๆและทำหน้าที่สำคัญที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการสูญเสียน้ำสร้างฮอร์โมนและวิตามินบางชนิด ห่อหุ้มอวัยวะภายในและเป็นแหล่งพลังงานสะสม เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเกิดความผิดปกติของการสะสมไขมันหรือการเผาผลาญไขมัน ทำให้มีไขมันในเลือดมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน แม้จะไม่มีแสดงอาการความผิดปกติโดยตรงจากการภาวะไขมันในเลือดสูง แต่ไขมันจะเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดเกิดเป็นตะกรัน (atherosclerotic plaque)

นำมาซึ่งอันตรายจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น หลอดเลือดแข็งตัวที่ทำให้เลือดไหวเวียนได้ไม่สะดวก หลอดเลือดตีบตันที่อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้ นอกจากนี้ภาวะไขมันในเลือดสูงยังพบได้มากในผู้สูงอายุ เมื่อรวมกับปัจจัยโรคแทรกซ้อนอื่นๆแล้ว ภาวะไขมันในเลือดสูงนี้จึงนำมาซึ่งความเสี่ยงและอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ในผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการดูแล รักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
ชนิดของไขมันในร่างกาย
ไขมันในร่างกายประกอบด้วย 2 ชนิดหลักคือ
1. คอเลสเตอรอล (cholesterol)

1.1 แอลดีแอล หรือ Low-density lipoprotein (LDL)
เป็นไขมันชนิดที่มีความหนาแน่นต่ำ ในบางครั้งมีการเรียกชื่อไขมันชนิดนี้ว่าเป็น “ไขมันชนิดเลว” เนื่องจาก LDL ทำหน้าที่ในการขนส่งไขมันในร่างกายรวมถึงคอเลสเตอรอล ดังนั้นการตรวจพบว่ามี LDL สูง จึงสัมพันธ์กับการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูง ซึ่งส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดและนำไปสู่โรคแทรกซ้อน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral arterial disease)
1.2 เอชดีแอล หรือHigh-density lipoprotein (HDL)
เป็นไขมันชนิดที่มีความหนาแน่นสูง และถูกจัดว่าเป็น “ไขมันชนิดดี” ซึ่งหน้าที่ในการขนส่งคอเลสเตอรอลจากอวัยวะต่างๆ โดยการลำเลียงผ่านเลือด กลับไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกาย ดังนั้นการทำหน้าที่ของ HDL จึงมีประโยชน์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด
2. ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride)
ไตรกลีเซอไรด์เป็นรูปแบบของไขมันที่ร่างกายสะสมเพื่อให้เป็นแหล่งพลังงาน นอกจากนี้การมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือด เช่นเดียว LDL ดังนั้นระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกาย (total cholesterol หรือ TC) จึงเป็นผลรวมของปริมาณ LDL, HDL และ ไตรกลีเซอไรด์
ระดับไขมันในเลือดสูงเท่าไหร่…ถึงเป็นอันตราย
คำถามที่สำคัญสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้สูงอายุที่ต้องตรวจระดับไขมันในเลือดคือ ปริมาณไขมันในเลือดเท่าไรถึงจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ในการวัดระดับไขมันในเลือดจะวัดปริมาณตามชนิดไขมัน โดย
ในภาวะปกติปริมาณไขมันในเลือดควรเป็นดังนี้
- ระดับคอเลสเตอรอลรวมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับแอลดีแอล (LDL) ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับเอชดีแอล (HDL) ควรมากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิต
- ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
ปัจจุบันได้มีเกณฑ์ในการกำหนดระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติ โดยพิจารณาร่วมกับการมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดแบ่งตามการมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ เช่น เป็นความดันโลหิตสูง , สูบบุหรี่ และกรรมพันธุ์ เป็นต้น รวมทั้งปัญหาสุขภาพและโรคร่วมอื่นๆ ดังนี้
หากบุคคลที่เข้ารับการตรวจมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ใช้เกณฑ์แอลดีแอล (LDL) อยู่ที่ 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
หากบุคคลที่เข้ารับการตรวจไม่มีปัจจัยเสี่ยงจะ ใช้เกณฑ์แอลดีแอล (LDL) อยู่ที่ 160 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
หากบุคคลที่เข้ารับการตรวจมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดส่วนปลายตีบหรือเป็นเบาหวาน ใช้เกณฑ์แอลดีแอล (LDL) อยู่ที่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การดูแลสุขภาพของผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
ผู้สูงอายุที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงควรให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหาร ที่นอกเหนือจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่แล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้
1. อาหารที่ปรุงโดยการใช้น้ำมันผัดหรือทอด เนื่องจากน้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์มเพราะมีแอลดีแอลสูง ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับระดับแอลดีแอลในเลือด ดังนั้นผู้สูงอายุควรเลือกบริโภคอาหารที่ปรุงโดยการต้ม หรือนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำมัน หากมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันในการประกอบอาหาร ควรเลือกใช้น้ำพืชน้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย และน้ำมันรำข้าว ทดแทนน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันหมู

2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไขมันสัตว์ เนยและเนยเทียม นอกจากนี้ อาหารทะเล ไข่แดง กุนเชียง และเครื่องในสัตว์ก็มีไขมันเป็นองค์ประกอบในปริมาณมาก โดยรับประทานให้น้อยลง เหลือเพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

พฤติกรรมที่ผู้สูงอายุที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงควรปฏิบัติคือ
1. รับประทานอาหารที่มีมีกากใยปริมาณมาก เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะใยอาหารที่ละลายได้ในน้ำ เช่น บล็อกโคลี่ แครอท ผลไม้ไม่หวานจัด ข้าวซ้อมมือ และเมล็ดถั่วแห่ง เพื่อช่วยลดการดูดซึมไขมันเข้าสู่ร่างกาย หากต้องการทานเนื้อสัตว์ควรเลือกทานเป็นเนื้อปลา หรืออกไก่แทนครับ

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักและเพื่อกระตุ้นการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ผู้สูงอายุเหมาะกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็ว วิ่งเหยาะ และกายบริหาร เป็นต้น ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-45 นาที หากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม

3. งดการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดหลอดเลือดตีบ ร่วมกับการมีไขมันในเลือดสูง
4. ตรวจเช็คระดับไขมันในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด หากหลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการบริโภคอาหารแล้ว ยังคงพบภาวะไขมันในเลือดสูง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาลดไขมัน ซึ่งพิจารณาจากชนิดไขมันที่สูงขึ้นและสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคล

ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
มื้อเช้า
1. ข้าวกล้อง+ต้มจืดตำลึงเต้าหู้+ชมพู่
2. ข้าวกล้อง+ผัดผักรวมมิตร+กล้วยน้ำว้า
3. ข้าวต้มทรงเครื่อง+นมถั่วเหลือง(สูตรน้ำตาลน้อย)+กล้วยหอม
มื้อกลางวัน
1. ราดหน้าฮ่องกง+ถั่วแดงต้มน้ำตาล
2. เกี๊ยวน้ำ+ลูกตาลลอยแก้ว
3. ผัดซีอิ๊ว+มะละกอสุก
มื้อเย็น
1. ข้าวกล้อง+แกงเลียง+มะระผัดไข่+กลัวยหอม
2. ข้าวกล้อง+แกงเทโพ+ยำหัวปลี+กล้วยน้ำว้า
3. ข้าวกล้อง+แกงส้มผักรวม+มะละกอสุก+นมพร่องมันเนย
อ้างอิง