ตอนที่เราเป็นเด็กคงเคยหกล้มกันบ่อยๆ ใช่ไหมครับ ซึ่งในตอนนั้นถ้าเราหกล้ม เจ็บนิดเดียวก็หายได้ง่ายๆ ลุกเดินเหินสบายเพราะร่างกายเรายังแข็งแรงและฟื้นฟูได้ไว แต่ถ้าหากการหกล้มเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุนับว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างมากเลยทีเดียว เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าในวัยสูงอายุนั้นเป็นวัยแห่งการเสื่อมสภาพมากกว่าการฟื้นฟูของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกระดูกและกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง หรือปัญหาด้านการทรงตัวและสายตาล้วนสร้างความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุเกิดการหกลมได้ง่าย โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีโอกาสเกิดการหกล้มร้อยละ 28-35 ต่อปี และเมื่อเข้าสู่วัย 70 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสหกล้มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32-42 ต่อปี สรุปได้ว่า ยิ่งผู้สูงอายุมีอายุที่มากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงของการหกล้มมากขึ้นนั่นเองครับ

ผู้สูงอายุหกล้ม…อันตรายอย่างไร

เนื่องจากวัยสูงอายุนั้นจะมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกพรุนสูง ดังนั้นเพียงแค่หกล้มเบาๆ ก็อาจจะส่งผลทำให้กระดูกแตกหักได้ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสะโพก กระดูกสันหลังที่ได้รับแรงกระแทกจากการสะดุดล้มก้นกระแทกพื้น และถ้าหากเกิดการหกล้มศีรษะกระแทกพื้นอาจทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งในสมองซึ่งอาจจะผลให้เกิดความพิการและการเสียชีวิตตามมาภายหลังได้เลยครับ โดยจากสถิติพบว่าผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกสะโพกหักมีโอกาสเสียชีวิตใน 1 ปีสูงถึงร้อยละ 20 เลยทีเดียว

หกล้มแค่ 1 ครั้ง อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

การหกล้มในผู้สูงอายุเพียงครั้งเดียว อาจส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก โดยประมาณ 1 ใน 3 ของการหกล้มในผู้สูงอายุสามารถนำไปสู่การบาดเจ็บที่รุนแรงได้ และ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหักไม่สามารถกลับมาเดินปกติได้ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนี้ส่งผลต่อการใช้ขีวิตของผู้สูงอายุอย่างมาก ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เหมือนเดิม จำเป็นต้องมีคนคอยดูแล บางคนลูกหลานถึงกับต้องลาออกจากงานเพื่อมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และปัญหานี้ก็จะส่งผลต่อจิตใจของผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้ คิดว่าเป็นภาระของลูกหลาน ชีวิตไม่มีค่าจนนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้

ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ

การหกล้มในผู้สูงอายุสามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1. ปัจจัยเสี่ยงภายในร่างกายของผู้สูงอายุ

เนื่องจากอายุที่มากขึ้นสุขภาพร่างกายก็เสื่อมถอยลงจึงส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา ซึ่งปัญหาสุขภาพเหล่านี้ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุได้เช่นกันครับ มาดูกันครับว่าปัญหาสุขภาพใดบ้างที่เป็นปัจจัยเสี่ยง

  • การเปลี่ยนแปลงด้านข้อต่อและเอ็นที่อ่อนแอลงส่งผลต่อการทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง รู้สึกแขน-ขาไม่ค่อยมีแรงทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หกล้มได้
  • การเปลี่ยนแปลงทางด้านการมองเห็นลดลง เช่น เป็นโรคต้อทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน หรือสายตายาว มีปัญหาเกี่ยวกับการกะระยะลึก-ตื้นการมองในที่มืดทำให้มองเห็นสิ่งกีดขวางไม่ชัดเจน
  • ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการหกล้มสูง เนื่องจากกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จึงต้องรีบเร่งไปเข้าห้องน้ำซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มได้
  • เท้าเป็นแผล นิ้วเท้าผิดรูป ทำให้เวลาเดินรู้สึกเจ็บ เดินไม่ถนัดจึงต้องเปลี่ยนลักษณะการเดิน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเท้าพลิกหรือหกล้มได้ง่าย
  • การเจ็บป่วยจากโรคประจำตัว เช่น โรคพาร์กินสัน ที่มีภาวะสั่นขณะเคลื่อนไหว โรคหลอดเลือดสมองส่งผลให้แขนขาอ่อนแรง จึงขาดสมดุลในการทรงตัวมีความเสี่ยงต่อการหกล้มสูง
  • การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการทรงตัว เช่น ยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ ยาต้านการซึมเศร้า อาจทำให้ง่วงซึมทรงตัวไม่ดีนำไปสู่การหกล้มได้ง่าย

2. ปัจจัยเสี่ยงภายนอกหรือสภาพแวดล้อมรอบตัว

หากสภาพแวดล้อมที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ไม่ปลอดภัย ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มในผู้สูงอายุได้ครับ มาดูกันครับว่าเราจะต้องระวังปัจจัยภายนอกอะไรบ้าง

  • บริเวณพื้นบ้าน ถ้ามีพรม เสื่อ ผ้ายางปูพื้น หากไม่ติดเเนบสนิทกับพื้นจะทำให้ผู้สูงอายุสะดุดล้มได้
  • บริเวณทางเดินมีสายไฟ สายยาง หรือสิ่งของเกะกะ บางครั้งผู้สูงอายุไม่ทันสังเกตอาจเป็นเหตุให้เกิดการหกล้มได้เช่นกัน
  • บริเวณขั้นบันได หากมีของวางเกะกะอยู่ ขั้นบันไดหรือราวบันไดชำรุด หรือมีแสงสว่างบริเวณบันไดไม่มากพอ ล้วนเป็นสาเหตุนำไปสู่การพลัดตกบันไดของผู้สูงอายุได้ครับ
  • บริเวณห้องต่างๆ ควรจัดวางของให้เหมาะสม เช่น ไม่วางของใช้สูงเกินไปเพื่อเลี่ยงการเขย่งหยิบของ ส่วนพื้นห้องน้ำควรติดแผ่นยางกันลื่น และไม่มีควรแหล่งน้ำขังในบริเวณพื้นบ้าน และในส่วนของห้องนอน ควรมีไฟที่หัวเตียงและทางเดินจากเตียงไปห้องน้ำจะต้องมีความสว่างเพียงพอและไม่ควรวางของเกะกะ

เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับกันล้ม

1. ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ได้แก่
  • การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและการทรงตัว โดยเลือกวิธีการออกกำลังที่เพิ่มความคงทนของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อและเอ็น เคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วมากขึ้น ทำให้อัตราการหกล้มลดลง
  • การรับสารอาหารที่เพียงพอต่อความร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อลดภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุที่เสี่ยงเกิดการหกล้มแล้วกระดูกหัก
2. การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น

การเลือกใช้วัสดุพื้นบ้านที่ไม่ลื่น ไม่วางของเกะกะและหลีกเลี่ยงการวางสายไฟขวางทางเดิน ปรับแสงสว่างให้เพียงพอตลอดทางเดิน และควรเลือกใช้เฟอนิเจอร์และสุขภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

3. เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะกับผู้สูงอายุ

เพื่อช่วยให้เคลื่อนไหวสะดวก เดินสบายไม่เสี่ยงล้ม หากผู้สูงอายุเดินด้วยตนเองแล้วมีความเสี่ยงที่จะหกล้มควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น โครงเหล็ก 4 ขา (Walker) หรือไม้เท้า

4. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น

การค่อย ๆ ลุกอย่างช้าๆ นั่งอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตตกหรือหน้ามืดในขณะยืน

5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น

หากได้รับยาหลายชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดการหกล้มแนะนำให้ปรึกษาแพทย์

การหกล้มในผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องเล็ก เราควรเฝ้าระวังและคอยสังเกตอาการของตนเองและผู้สูงอายุตลอดเวลา ดูแลสุขภาพออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอย่าลืมปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและปลอดภัยตลอดเวลานะครับ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากการหกล้มภายในบ้านครับ สำหรับใครต้องการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง เช่น การออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และประเมินความเสี่ยงในการหกล้ม

สามารถเข้าไปโหลดคู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุได้ที่

https://bit.ly/3h6esCM

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://bit.ly/31NFxVd

https://bit.ly/3kGpEIx

https://bit.ly/2Y1hqkO

https://bit.ly/3h6esCM

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top