การตรวจสุขภาพประจำปีนับว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราจะได้ถือโอกาสตรวจเช็คร่างกายของเราอย่างละเอียดว่าร่างกายเราผิดปกติตรงไหน หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราในปี ๆ หนึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างไรบ้าง จะได้ระวังไม่ให้กลายเป็นโรค หรือถ้าตรวจพบโรคแล้วจะได้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที โอกาสที่จะหายก็มากขึ้นตาม ยิ่งในผู้สูงอายุด้วยแล้ว ร่างกายไม่ได้สมบูรณ์พร้อมเหมือนคนวัยหนุ่มสาว ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติเป็นโรคนั่นโรคนี้ย่อมมีมากกว่า วันนี้เอลเดอร์เลยมีรายการตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุมาฝากให้ทุกท่านและลูก ๆ หลาน ๆ เช็คลิสต์เอาไว้ไปตรวจสุขภาพประจำปีกัน ลองตามไปดูกันได้เลยครับ

1. ตรวจร่างกายพื้นฐาน
เป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ควรจะตรวจ เพราะถือว่าเป็นการตรวจดูการทำงานของร่างกายขั้นพื้นฐานแบบครบองค์รวม ซึ่งรายการตรวจส่วนใหญ่ก็จะมีดังนี้

- ตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
- ตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c)
- ตรวจระดับไขมันในเลือด ได้แก่ คอเลสเตอรอล, HDL, LDL, ไตรกลีเซอไรด์
- ตรวจการทำงานของไต ได้แก่ ตรวจหาอัตราการกรองของไต (eGFR) ตรวจระดับหาครีอะตินีน (Creatinine) และตรวจหาปริมาณยูเรีย (BUN)
- ตรวจการทำงานของตับ ได้แก่ ตรวจเอนไซม์ AST (SGOT), ALT (SGPT) และ ALP
- เอกซเรย์ปอด
- ตรวจหาไวรัสตับอักเสบ (HBs Ag)
- ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ T3, Free T4 และ TSH
- ตรวจวัดระดับยูริกหาความเสี่ยงโรคเกาต์
- ตรวจปัสสาวะ
- ตรวจอุจจาระ
2. ตรวจตา
ตาเป็นอวัยวะที่เสื่อมสภาพลงตามวัย ดังนั้น ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นการตรวจต้อกระจก ต้อหิน ต้อเนื้อ รวมไปถึงตรวจภาวะเบาหวานขึ้นตา ตรวจจอประสาทตา เพื่อเช็คสุขภาพสายตาให้การมองเห็นยังคงมีประสิทธิภาพ ถ้าหากเกิดต้อขึ้นจะได้รักษาได้ทันก่อนที่จะสูญเสียการมองเห็น

3. ตรวจหู
นอกจากดวงตาแล้วหูก็เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่เสี่อมลงตามวัย ปัญหาหลัก ๆ ที่มักเกิดกับผู้สูงวัยก็คือหูตึง ประสิทธิภาพในการฟังลดลง ดังนั้น ผู้สูงอายุควรตรวจสสมรรถภาพการได้ยิน ตรวจส่องดูหูชั้นนอก หูชั้นกลาง และเยื้อบุแก้วหูอยู่เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4. ตรวจช่องปาก
ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างจริงจังดูสภาพฟันและเหงือกอย่างละเอียดว่ามีฟันโยกฟันผุฟันสึกไหม เหงือกอักเสบจนร่นหรือเปล่า เพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อในลำคอหรืออาจถึงขั้นเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบได้เลย ที่สำคัญผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันแล้วต้องใส่ฟันปลอมก็ควรจะต้องตรวจเช็คฟันปลอมอยู่เป็นประจำด้วย
5. ตรวจกระดูก
แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้นกระดูกกระเดี้ยวก็แย่ลงตามวัย เพราะมวลกระดูกจะเสื่อมสภาพลง ส่งผลต่อการปวดเมื่อย การทรงตัว ทำให้บุคลิกและท่าทางของเราเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุควรจะมาตรวจเช็คสภาพกระดูกหรือตรวจมวลกระดูกและกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการเกิดกระดูกพรุนตามมา

6. อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง
การอัลตร้าช่อวท้องเป็นการตรวจดูการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้องทั้งหมดซึ่งสามารถบอกความผิดปกติของอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ตับ ม้าม ถุงน้ำดี ตับอ่อน มดลูก รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก ฯลฯ เพื่อดูความผิดปกติต่าง ๆ เช่น มะเร็ง ก้อนเนื้องอก นิ่ว ถุงน้ำ ซึ่งจะช่วยคัดกรองโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
7. ส่องกล้องตรวจลำไส้
มะเร็งลำไส้ถือว่าเป็นภัยร้ายที่มีอัตราเสี่ยงสูงในผู้สูงอายุ การส่องกล้องตรวจลำไส้จึงเป็นอีกหนึ่งรายการตรวจสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถส่องดูความผิดปกติของลำไส้ได้จากภายใน นอกจากจะใช้ตรวจหามะเร็งแล้วยังช่วยหาสาเหตุอาการท้องผูก ริดสีดวงทวารได้อีกด้วย
8. ตรวจการทำงานของหัวใจ
ภาวะเหนื่อยหอบง่ายในผู้สูงอายุสัมพันธ์กับการทำงานของหัวใจ ผู้สูงอายุจึงควรได้รับการตรวจสุขภาพหัวใจไม่ว่าจะเป็นตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจหาหินปูนและการตีบของหลอดเลือดหัวใจ เพื่อดูความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

9. ตรวจสมองและระบบประสาท
อายุที่มากขึ้นเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายก็เสื่อมประสิทธิภาพลง แน่นอนว่าสมองก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ เกิดเป็นภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ตามมา การตรวจสมองทั้ง CT scan และ MRI จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ยิ่งผู้ที่มีประวัติครอบครัวด้วยรคทางสมองแล้วยังไงก็ไม่ควรมองข้าม
10. ตรวจสุขภาพจิต
การตรวจสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องสำคัญมากในผู้สูงอายุ เพราะเมื่อสูงวัยขึ้นอาจจะมีอารมณ์แปรปรวน อีกทั้งร่างกายของเราทำงานได้ไม่เหมือนเดิม อะไรจากที่เคยก็อาจจะทำได้ไม่เหมือนเดิม เช่น ขับรถ การได้ยิน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเครียด น้อยเนื้อต่ำใจรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า การได้เข้าไปพบจิตแพทย์จะช่วยดูแลในเรื่องนี้ได้ เพื่อให้มีความสุขในการดำเนินชีวิตต่อไป

ทั้งหมดนี้ก็เป็นรายการตรวจสุขภาพที่เอลเดอร์อยากแนะนำให้ผู้สูงอายุได้ไปตรวจเช็คร่างกายกัน เพราะร่างกายของเรานั้นไม่เหมือนคนหนุ่มสาวจึงต้องใส่ใจแบบละเอียดกันสักหน่อย เพื่อให้เรามีร่างกายที่แข็งแรงกระฉับกระเฉง ห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ เป็นสูงวัยที่แฮปปี้ ทั้งกายและใจไม่เป็นภาระให้ลูกหลานต้องคอยพะวง เราจะได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับพวกเขาได้อย่างมีความสุข
ที่มา
- รักษาภาวะ “สมองเสื่อม” ในผู้สูงอายุ ทำได้อย่างไร?
- โปรแกรมตรวจสุขภาพผู้ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
- ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุแบบเชิงลึก
- ตัวเลขในผลตรวจสุขภาพ…บอกอะไรเราบ้าง
- การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกเพื่อวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน
- อัลตร้าซาวด์ช่องท้องบอกความผิดปกติ..ของโรคใดได้บ้าง
- ส่องกล้องลำไส้ใหญ่… เจอเนื้อร้ายเร็ว รักษาง่าย
- การตรวจหัวใจในผู้สูงอายุ