
สมุนไพรเป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยที่ใช้ในการดูแลสุขภาพและรักษาโรคกันมาแต่โบราณเนินนานมา จนเกิดเป็นตำรับยาแผนโบราณจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยในฐานะการแพทย์ทางเลือกร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันในการดูแลสุขภาพ จนมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต่าง ๆ ออกมาจำหน่ายมากมาย วันนี้เอลเดอร์จะขอพาทุกท่านไปสำรวจศาสตร์การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคกันให้มากขึ้นครับว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด แล้วเราจะใช้มันยังไงให้ปลอดภัยกับร่างกายที่สุด
แน่นอนว่าในอดีตที่การแพทย์สมัยใหม่ยังไม่เจริญสมุนไพรถูกใช้เป็นยาหลักในการรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งการใช้สมุนไพรมาทำยารักษาโรคนั้นแต่ต่างจากความเข้าใจของเราในปัจจุบันสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่แค่หยิบจับเอาสมุนไพรอะไรก็ได้มารับประทานก็จะกลายเป็นยาไปเสียทั้งหมด หากแต่ต้องอาศัยกระบวนการ “ปรุงยา” หรือปรับรูปแบบสมุนไพรให้มีสรรพคุณทางยามากขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า “ตำรับยา” นั่นเองครับ

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าสมุนไพรโดด ๆ อย่างพวกขิง ข่า กระชาย ฯลฯ เมื่อเรานำมาประกอบอาหารรับประทานก็จะให้ประโยชน์ทางสารอาหารเป็นหลักแต่ไม่เพียงพอที่จะให้ผลทางยา ถ้าหากเราต้องการดึงเอาสรรพคุณทางยาก็จำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณสมุนไพรนั้น ๆ ให้เพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 เท่าตัวของขนาดที่เรานำมาปรุงอาหารกันเลยทีเดียวเพื่อให้ได้ฤทธิ์แรงเหมาะกับการเป็นยา ไม่เพียงเท่านั้นนะครับยังต้องนำมาปรุงผสมกับสมุนไพรตัวอื่น ๆ เพื่อให้เสริมฤทธิ์กันและกัน จึงเกิดเป็นตำรับยาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ขึ้นมายังไงล่ะครับ
ทางเลือกในการรักษาด้วยยาสมุนไพร
ปัจจุบันนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการผลักดันและส่งเสริมตำรับยาสมุนไพรให้กลายเป็นแพทย์ทางเลือกในการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยในวงกว้างมากขึ้น จนมีการบรรจุเอายาจากสมุนไพรและยาที่พัฒนาจากสมุนไพรมากกว่า 70 รายการเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติใช้ในระบบสาธารณสุขของรัฐและเอกชน ซึ่งครอบคุลมเกือบทุกกลุ่มอาการของโรคพื้นฐานสามารถเข้าไปดูรายการยาได้ที่เว็บไซต์กลุ่มงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกได้เลยครับ นั่นจึงเท่ากับว่ายาสมุนไพรถูกรับรองให้สั่งจ่ายในโรงพยาบาลทั่วไปได้แล้ว และยังสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงประกันสังคมและสิทธิเบิกของข้าราชการ ซึ่งเราสามารถปรึกษาแพทย์สั่งจ่ายยาเหล่านี้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้

ล่าสุดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงได้รวบรวมเอาตำรับยาสมุนไพรจากตำรับยาสมุนไพรจากบัญชียาหลักแห่งชาติและอีก 3 แหล่งที่เชื่อกันว่าเป็นสุดยอดตำรับยาสมุนไพร ได้แก่ ตำรับยาจากตำรายาแผนไทยชาติ ประกาศยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ และตำรับยาเกร็ดที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยยังนิยมใช้ปรุงยา ให้แก่ผู้ป่วย ผ่านการกลั่นกรองโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจนออกมาเป็น “รายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ” ที่มีตำรับยามากถึง 324 ตำรับ ครอบคุลมกลุ่มอาการโรค 15 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มโรคเด็ก 2.กลุ่มโรคสตรี 3.กลุ่มโรคลม 4.กลุ่มยาบำรุง อายุวัฒนะ 5. กลุ่มโรคกระษัย กล่อน 6. กลุ่มโรคผิวหนัง แผล โรคเรื้อน 7. กลุ่มโรคฝี 8. กลุ่มโรคในปากในคอ 9. กลุ่มโรคทางเดินปัสสาวะ กามโรค 10. กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง 11. กลุ่มโรคริดสีดวง 12. กลุ่มโรคหอบ ไอ หอบหืด 13. กลุ่มโรคท้องมาน 14. กลุ่มไข้ และ 15. กลุ่มอื่น ๆ
เอลเดอร์ก็มีตัวอย่างตำรับยาในรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติที่เหมาะกับผู้สูงอายุมาฝากกันด้วยล่ะครับ นั่นก็คือตำรับยาเบญจกูล เป็นยาธาตุสำหรับบำรุงระบบย่อยอาหาร ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฝ้อจากอาหารไม่ย่อย ตัวยาประกอบไปด้วยสมุนไพร 5 ชนิด คือ ขิงแห้ง เจตมูลเพลิงแดง ชะพลู ดีปลี สะค้าน อย่างละ 20 กรัม นำมาบดเป็นผงชงดื่มครั้งละ 2 กรัม ดื่มหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น และไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 7 วันครับ

ท่านไหนที่สนใจสูตรยาตำรับอื่น ๆ ก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้เลยครับ รายละเอียดครบทั้งสรรพคุณ และวิธีการทำ จัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่อ่านง่ายสะดวกต่อการค้นหามาก ๆ ครับ
ข้อควรระวังในการใช้ยาสมุนไพร
เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบันอื่น ๆ เลยครับยาสมุนไพรอาจก่อให้เกิอาการแพ้ได้ในบางคน ดังนั้นไม่ควรจะใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่รู้ข้อมูลอะไร ควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้งนะครับ ส่วนคนที่ต้องการใช้ยาสมุนไพรร่วกับยาแผนปัจจุบันคงต้องปรึกษาร่วมกับแผนเจ้าของไข้ไม่เช่นนั้นยาทั้งสองอย่างนี้อาจจะไปตีกันหรือทำปฏิกิริยากันในร่างกายของเราได้ อาจทำให้ยาลดประสิทธิภาพลง หรืออาจจะแย่ถึงขั้นที่ก่อให้เกิดพิษหรือผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้นถ้าจะให้ชัวร์ควรปรึกษาแพทย์หรือให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้จะดีกว่านะครับ
เอลเดอร์คิดว่ายาสมุนไพรไทยถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาสุขภาพที่น่าสนใจมาก ๆ เลยนะครับ ผู้สูงอายุท่านไหนที่สนใจสิ่งแรกเลยคือต้องหาข้อมูลกันให้ละเอียดนะครับ เพื่อที่จะได้ใช้กันอย่างถูกวิธีและเกิดผลดีกับสุขภาพของเรามากที่สุด สำคัญเลยก็คือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่แล้วต้องไม่ลืมที่จะต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ทุกครั้งนะครับไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะเกิดโทษมากกว่าผลดีนครับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
– https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/download/7581-dl0121.html
– https://ttm.skto.moph.go.th/document_file/pr008.pdf
– https://www.gj.mahidol.ac.th/main/ttm/herb-right/