ปัจจุบันทางเลือกในการรักษาโรคก็มีมากขึ้นนะครับ หนึ่งในนั้นคือศาสตร์ของแพทย์ทางเลือก กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจไม่น้อย ซึ่ง WHO ได้ให้คำนิยามของ Complementary And Alternative Medicine ไว้ว่า การแพทย์ที่นำไปใช้เสริมหรือใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแพทย์หลักของประเทศนั้น ๆ ได้ และแพทย์ทางเลือกอย่างการใช้ออกซิเจนเพื่อรักษาโรคถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกใหม่ที่ทางสหรัฐฯรับรองว่าสามารถรักษาโรคได้กว่า 14 โรค เราเรียกการรักษานี้ว่า “ไฮเปอร์แบริค” เอลเดอร์จะพาทุกคนไปรู้จักกันครับ

ทำความรู้จัก Hyperbaric Oxygen Therapy 

การบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันบรรยากาศสูง หรือ Hyperbaric Oxygen Therapy ; HBOT เป็นการรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ภายใต้สภาวะความกดบรรยากาศสูงในห้องปรับบรรยากาศ (Hyperbaric Chambre) ที่มีลักษณะคล้ายหลอดแก้วขนาดใหญ่ผลิตจากอะคิลิคคุณภาพสูง ที่มีความดันภายในสูงกว่า 1 บรรยากาศ ซึ่งการหายใจด้วยวิธีนี้จะทำให้ได้รับออกซิเจนที่สูงกว่าการหายใจที่บรรยากาศปกติกว่าหลายเท่า การรักษาด้วยวิธีการนี้ถูกนำไปใช้เป็นการรักษาเสริมในทางอายุรกรรมและศัลยกรรม อีกทั้ง ยังเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและไม่เจ็บปวด น่าสนใจใช่ไหมล่ะครับ
แต่เดิมเจ้าเครื่องนี้ถูกนำมาใช้ในเวชศาสตร์ใต้น้ำ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยสภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตันของฟองอากาศในนักดำน้ำ และฟองก๊าซไนโตรเจนในกระแสเลือดไปอุดตันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เราเรียกกันว่า โรคน้ำหนีบ โดยเครื่องจะไปเพิ่มความดันทำให้ฟองอากาศที่อุดตันในเส้นเลือดเล็กลง ส่งผลให้เลือดและออกซิเจนสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี

รู้หรือไม่ว่า… การเพิ่มออกซิเจนมีผลต่อร่างกาย

คนส่วนใหญ่จะมีระดับออกซิเจนในเลือดอยู่ที่ 95 – 100% อย่างไรก็ตาม ยังมีคนบางกลุ่มที่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 95% ค่าที่ต่ำกว่าปกติเล็กน้อยซึ่งวัดได้ขณะนอนหลับถือเป็นเรื่องปกติ การที่เราได้รับออกซิเจนในปริมาณที่สูงขึ้น จะส่งผลให้ออกซิเจนจับเม็ดเลือดแดงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นสามารถสรุปได้ดังนี้
1. ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
2. ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอย
3. ลดขนาดของฟองอากาศในเนื้อเยื่อและหลอดเลือด
4. ช่วยยับยั้งและต่อต้านการติดเชื้อโรคบางชนิด
5. เพิ่มประสิทธิภาพเซลล์เม็ดเลือดขาวในการทำลายเชื้อโรค

         นอกจากนี้ ใครที่กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวานอาจจะมีเฮนะครับ เนื่องจาก HBO มีผลในการช่วยรักษาแผลในโรคเรื้อรัง ทั้งจากเบาหวาน เส้นเลือดตีบ หรือแผลที่เกิดขึ้นจากการฉายรังสี โดยทั่ว ๆ ไปนั้น ลักษณะของแผลที่หายยากในโรคเหล่านี้ ในเนื้อเยื่อรอบ ๆ บาดแผลจะมีออกซิเจนที่ต่ำ เพราะมีเลือดมาเลี้ยงน้อย ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในการรักษาแผลไม่สามารถทำงานสร้างเนื้อเยื่อได้ตามปกติ ดังนั้น การให้ HBO จะไปช่วยเพิ่มออกซิเจนในเนื้อเยื่อรอบแผลให้มีมากขึ้น เซลล์ต่าง ๆ เมื่อได้รับออกซิเจนจะเริ่มทำงานได้ดีและสามารถฆ่าเชื้อโรค รวมถึงมีการสร้างเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอยใหม่ ๆ ขึ้น ส่งผลให้แผลหายได้

การรักษา HBOT ได้รับการรับรองจากสหรัฐ


ปัจจุบัน FDA ของสหรัฐฯได้ให้การรับรองโรคต่าง ๆ ที่สามารถรักษาได้ด้วย HBOT รวมถึงได้รับการยอมรับจากเวชศาสตร์ความกดอากาศสูงของสหรัฐ (Undersea and Hyperbaric Medicine Society, UHMS) ในปัจจุบัน ได้แก่
  1. โรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดง (Air or Gas Embolism)
2. โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษ / การสำลักควันไฟ (CO Poisoning and Smoke Inhalation)
3. โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษจากสารพิษไซยาไนด์ (Carbon Monoxide Poisoning Complicated by Cyanide Poisoning)
4. แผลบดขยี้หรือแผลบวมมากแผลขาดเลือดจากอุบัติเหตุ  (Crush Injury, Compartment Syndrome and Other Acute Traumatic Ischemias)
5. โรคน้ำหนีบเป็นภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตันของก๊าซไนโตรเจนในนักดำน้ำ (Decompression Sickness)
6. โรคหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงไม่เพียงพอ (Arterial Insufficiencies)
– โรคเส้นเลือดแดงของจอประสาทอุดตัน (Central Retinal Artery Occlusion)
– แผลที่หายยาก (Enhancement of Healing in Selected Problem Wounds)
7. ภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง (Severe Anemia)
8. ฝีในสมอง (Intracranial Abscess)
9. การติดเชื้อและมีการตายของเนื้อเยื่อ (Necrotizing Soft Tissue Infections)
10. การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มกระดูก (Osteomyelitis (Refractory)
11. การได้รับบาดเจ็บจากรังสี/ เนื้อเยื่อตายจากการได้รับรังสี (Delayed Radiation Injury (Soft Tissue & Bony Necrosis)
12. การปลูกถ่ายผิวหนังและกล้ามเนื้อ (Compromised Grafts and Flaps)
13. แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (Acute Thermal Burn Injury)
14. โรคหูดับฉับพลัน (Idiopathic Sudden Sensorineural Hearing Loss)

ขั้นตอนการรักษา
สำหรับภายในเครื่องนี้สามารถจุผู้ป่วยนอนได้ครั้งละ 1 คนเท่านั้นครับ ซึ่งชนิดและลักษณะของห้องปรับบรรยากาศมีโครงสร้างคล้ายหลอดแก้วขนาดใหญ่ทำด้วยพลาสติกอะคิลิคใส ซึ่งสามารถทนความกดบรรยากาศได้สูงสุด 3 บรรยากาศด้วยกัน ซึ่งเราสามารถนอนพัก ผ่อนคลายด้วยการดูโทรทัศน์ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจเลยครับ เข้าไปนอนเฉย ๆ หากใครอยากจะพูดคุยกับคนด้านนอกก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะเครื่องนี้มีการติดตั้งระบบสื่อสารให้พูดคุยกับคนภายนอกได้ด้วย โดยขั้นตอนในการรักษามีดังนี้
1. ผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายตามที่โรงพยาบาลจัดไว้
2. นอนลงบนเตียงโดยเครื่องจะมีการเลื่อนเข้าไปด้านในโดยอัตโนมัติ
3. แพทย์จะทำการเปิดออกซิเจนที่ 100% เข้าไปในเครื่องพร้อมค่อย ๆ ปรับเพิ่มความดันออกซิเจนให้มากกว่าปกติ โดยในช่วงแรกอาจจะมีอาการหูอื้อเล็กน้อย แต่ไม่ต้องกังวลครับเพราะทางแพทย์จะคอยสังเกตอาการจะมีการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยตลอดเวลา
4. การรักษาแต่ละครั้งจะใช้ออกซิเจนประมาณ 30,000 ลิตร หรือเฉลี่ย 200 – 300 ลิตร/นาที โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การรักษาและการตอบสนองของผู้ป่วย และจะต้องเข้าเครื่อง 30 – 40 ครั้งในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคด้วยครับ

ผลดีของการรักษาด้วย HBOT

ผลดีของการรักษาด้วย HBOT ที่เห็นชัด ๆ คือการลดความสูญเสียอวัยวะ ในบางกรณีที่แพทย์จะต้องผ่าตัดเอาอวัยวะบางส่วนทิ้งไป เช่น ตัดเท้าหรือนิ้วเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยลดบวมในแผลที่ถูกบดกระแทก ช่วยให้แผลเรื้อรังที่หายได้ยากหายได้และย่นระยะเวลาในการรักษาให้เร็วขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมองให้ทำงานได้ดีขึ้น จึงสามารถช่วยรักษาเด็กออทิสติกและเด็กสมาธิสั้นได้นั่นเองครับ

รวมโรงพยาบาลและคลินิกที่ให้บริการ HBOT

หากใครกำลังสนใจการรักษาด้วยออกซิเจนแบบ HBOT แล้วล่ะก็ เอลเดอร์ได้รวบรวมโรงพยาบาลและคลินิกที่สามารถไปใช้บริการกันได้ครับไว้ที่นี่แล้วครับ
1. หน่วยรักษาโรคด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลศิริราช (Siriraj Hyperbaric Medicine Unit) ตึกอุบัติเหตุชั้น 4  โทร. 02-419-8719, 02-419-7731
2. ศูนย์ไฮเปอร์แบริค HBO โรงพยาบาลยันฮี โทร. 0-2879-0300 หรือ 1723 ต่อ 10788-89
3. ศูนย์การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง ชั้น 6 อาคาร C โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 0-2310-3491, 0-2310-3000, 1719
4. ศูนย์ออกซิเจนบำบัด โรงพยาบาลธนบุรี โทร. 1645 กด 1 ต่อ 2205
5. ศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง ชั้น 6 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร. 0-2066-8888
6. ศูนย์เวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ โทร. 0-2460-0000, 0-2876-6120 – 29, 0-2475-2995
7. โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน โทร. 0-2271-7000
8. ศูนย์เบาหวาน โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ โทร. 0-2294-7111 ต่อ 2313
9. ศูนย์คุณภาพและความงาม Vital Glow : Skin & Aesthetic โทร. 0-2518-1818 ต่อ 999, 095-7505555
10. ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสุขุมวิท โทร. 0-2391-0011 ต่อ 971, 972
11. โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 0-5393-6150
12. โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 0-4334-8888, 0-4320-2000, 0-4334-8368

  นับว่านวัตกรรมเดี๋ยวนี้ก้าวหน้าไปมากเลยนะครับ แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกดี ๆ อีกทาง สำหรับใครที่สนใจอยากใช้รักษาด้วยวิธีนี้ควบคู่กับการรักษาหลัก อย่าลืมที่จะปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนนะครับ เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาความเหมาะสมและให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง

 ข้อมูลอ้างอิง

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top