ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ  บางคนเห็นสุขภาพแข็งแรงดี แต่จู่ๆก็ล้มหมอนนอนเสื่อ และจากไปแบบไม่ทันตั้งตัวก็มี…ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้สูงอายุหรือแม้กระทั่งบุตรหลานเอง ต่างมองหาหลักประกันให้กับชีวิตบั้นปลายในวัยเกษียณ ซึ่ง “ประกันชีวิตผู้สูงอายุ” ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ
            ต้องบอกว่าเรื่องของประกันชีวิตผู้สูงอายุมีมานานแล้วครับ แต่ถึงตอนนี้หลายคนอาจสงสัยว่าจริงๆแล้วประกันชีวิตผู้สูงอายุคืออะไร? แตกต่างยังไงกับประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตทั่วๆไป? และถ้ามีประกันชีวิตอยู่แล้ว จำเป็นต้องทำประกันชีวิตผู้สูงอายุเพิ่มเติมด้วยหรือไม่? วันนี้เราได้รวบรวมทุกข้อข้องใจมาหาคำตอบให้ทุกท่านกันแล้วครับ   

ทำความรู้จักกับ “ประกันชีวิตผู้สูงอายุ”

             ประกันชีวิตผู้สูงอายุ คืออีกรูปแบบหนึ่งของประกันชีวิตที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆเพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้สูงอายุ และเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถทำได้ง่ายขึ้น เช่น ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ เบี้ยประกันมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประกันชีวิตทั่วไป อีกทั้งยังสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 50 – 70 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท แต่เนื่องจากประกันชีวิตผู้สูงอายุ ไม่ใช่ประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพ ดังนั้นจึงไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่จะเน้นไปที่การจ่ายเงินเมื่อผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิตเท่านั้น จึงถือเป็นการออมอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อเก็บไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลานครับ

ประกันชีวิตผู้สูงอายุ กับประกันชีวิตทั่วไป ต่างกันอย่างไร?

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดระหว่างประกันชีวิตผู้สูงอายุกับประกันชีวิตทั่วไป ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้ออกประกาศให้กรมธรรม์ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุของบริษัทประกันชีวิตทุกบริษัท ต้องมีรูปแบบและข้อความเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างชัดเจนให้กับผู้ทำประกัน โดย “กรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ” จะต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. ให้ระบุข้อความว่า “(เพื่อผู้สูงอายุ)” ต่อท้ายชื่อแบบประกัน บนเอกสารที่เกี่ยวข้องเสมอ ได้แก่ เอกสารสรุปสาระสำคัญและใบคำขอเอาประกันชีวิต
2. ต้องกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้เอาประกันภัยไว้ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนอายุสูงสุดที่จะรับประกันขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดอายุสูงสุดไว้ที่ 70 – 75 ปี และคุ้มครองไปตลอดชีพ หรือจนถึงอายุ 90 ปี
3. ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องตรวจสุขภาพ และไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิต ซึ่งข้อนี้จะทำให้บริษัทประกันไม่สามารถนำเรื่องการป่วยด้วยโรคร้ายแรงก่อนทำประกัน มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธการจ่ายเงินคืนหรือเงินเอาประกันได้ 
4. หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปีนับแต่วันทำสัญญา บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาแล้ว พร้อมเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) ในอัตราไม่ต่ำกว่า 2% ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์
5. หากผู้ทำประกันเสียชีวิตหลังจากครบอายุของกรมธรรม์ 2 ปีแล้ว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุโรคร้ายแรงหรืออุบัติเหตุ ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินเอาประกันเต็มจำนวน

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างประกันชีวิตผู้สูงอายุกับประกันชีวิตทั่วไป

รายละเอียดประกันชีวิตประกันชีวิตผู้สูงอายุประกันชีวิตทั่วไป
1. เบี้ยประกันเสียเบี้ยประกันน้อยกว่า บางบริษัทจะมีเบี้ยประกันคงที่ตลอดอายุกรมธรรม์  มีเบี้ยประกันที่ค่อนข้างสูง และเบี้ยประกันมีปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ
2. ช่วงอายุที่เหมาะสมทำประกันเริ่มทำได้เมื่ออายุ 50 – 70 ปี ซึ่งผ่านพ้นวัยทำงาน หรืออยู่ในวัยเกษียณแล้ว เหมาะกับคนหนุ่มสาววัยทำงาน
3. การตรวจหรือตอบคำถามสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจและตอบคำถามสุขภาพ ซึ่งบริษัทประกันก็ไม่สามารถใช้เรื่องการป่วยด้วยโรคร้ายแรงก่อนทำประกัน มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธการจ่ายเงินคืนหรือเงินเอาประกันได้ จะต้องตรวจสุขภาพและตอบคำถามสุขภาพ หากพบว่ามีโรคร้ายแรงหรือมีความเสี่ยง บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการทำประกันได้
4. ลักษณะพิเศษของประกันสามารถทำได้แม้อายุมาก แต่ต้องไม่เกินข้อกำหนดในกรมธรรม์เมื่ออายุมากขึ้น บริษัทประกันบางแห่งอาจไม่รับทำประกันชีวิตทั่วไป

 เลือกประกันชีวิตผู้สูงอายุ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

  • > อายุของผู้เอาประกัน : เนื่องจากประกันชีวิตผู้สูงอายุจะมีการระบุชัดเจนว่าอายุเท่าไรจึงจะสามารถซื้อประกันได้ ดังนั้นตัวผู้สูงอายุเองหรือบุตรหลานที่จะทำประกันตัวนี้ให้ผู้สูงอายุต้องตรวจเช็คให้ดี ห้ามปกปิดหรือบิดเบือนอายุผู้เอาประกัน เพราะจะมีผลให้ถูกบอกล้างประกันตอนเคลมได้  
  • > วงเงินเอาประกันที่อยากได้ : วงเงินเอาประกัน คือเงินที่ผู้รับผลประโยชน์หรือลูกหลานจะได้รับ หากผู้เอาประกันเสียชีวิตตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดในกรมธรรม์ ทั้งนี้หากอยากได้วงเงินเอาประกันที่สูงก็จะต้องจ่ายเบี้ยประกันที่สูงด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรดูวงเงินเอาประกันให้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันด้วย
  • > สัญญาพ่วงท้าย และเงื่อนไขในรายละเอียด : เนื่องจากเอกสารประกันชีวิตมีรายละเอียดมากมาย ดังนั้นควรอ่านทำความเข้าใจให้รอบคอบก่อนตัดสินใจทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ เช่น การตรวจหรือตอบคำถามสุขภาพ, เงื่อนการแบ่งจ่ายเบี้ยประกัน และเงื่อนไขการจ่ายเงินกรณีเสียชีวิต เป็นต้น   
  • > การลดหย่อนภาษี : หลายคนทราบแล้วว่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายกันทุกปีนั้นสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่ที่ยังไม่ทราบในรายละเอียดก็คือ ประกันชีวิตที่จะใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้น กรมธรรม์จะต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และจะต้องเป็นบริษัทประกันชีวิตที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งประกันชีวิตผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกัน อีกทั้งประกันชีวิตผู้สูงอายุ ผู้เอาประกันเท่านั้นที่จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตได้ หมายความว่า แม้ลูกหลานจะเป็นผู้ทำประกันหรือจ่ายเบี้ยประกันให้ผู้สูงอายุ ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้  

ก่อนคิดทำต้องรู้ทันประกันชีวิตผู้สูงอายุ

ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ ข้อนี้คือหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้หลายคนตัดสินใจทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งข้อดีของเงื่อนไขนี้ก็คือ ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถนำเรื่องการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงก่อนทำประกัน มาเป็นข้ออ้างปฏิเสธการจ่ายเงินคืนหรือเงินเอาประกันได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแลกกับเงื่อนไขที่ว่า หากผู้เอาประกันเสียชีวิตใน 2 ปีแรก จากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงไม่ว่าโรคใดก็ตาม บริษัทจะไม่ได้จ่ายตามวงเงินเอาประกัน แต่จะจ่ายคืนเฉพาะเบี้ยประกันที่รับมา พร้อมกับดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 2% ตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทที่กำหนดในกรมธรรม์เท่านั้น แต่ทั้งนี้แนะนำว่าควรแจ้งปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยให้บริษัทประกันทราบตั้งแต่ต้น เพื่อป้องกันการถูกบอกล้างประกันเมื่อตอนเคลม ในเรื่องการปกปิดความจริงได้
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันบางคนแม้จะไม่เคยเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพมาก่อนซื้อประกันชีวิตผู้สูงอายุ แต่หากผู้เอาประกันเสียชีวิตภายใน 2 ปีแรกจากโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บริษัทประกันก็ถือว่าเสียชีวิตด้วยโรคเช่นเดียวกัน ดังนั้นการจ่ายเงินก็จะเป็นกรณีเดียวกัน ในขณะที่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะจ่ายเท่ากับวงเงินเอาประกันเต็มจำนวน พร้อมเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปทั้งหมดและดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 2% ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท
เพราะฉะนั้น ผู้เอาประกันรวมถึงบุตรหลานจะต้องเก็บเอกสารการเสนอขายรวมถึงเอกสารต่างๆ ให้ดี ทั้งโบรชัวร์ โฆษณาทางทีวี หรือกรณีทำประกันทางโทรศัพท์ก็ให้บันทึกข้อตกลงไว้เป็นหลักฐาน เพราะเอกสารทั้งหมดสามารถใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีในอนาคตได้
นอกจากนี้ เมื่อได้รับกรมธรรม์มาแล้วให้ตรวจสอบความถูกต้องทั้งชื่อ ข้อมูลการทำประกัน หากส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ สามารถทำหนังสือบอกเลิกสัญญาได้ภายใน 30 วัน

6 คำถาม ที่ต้องถามตัวแทนประกัน

สำหรับใครที่กำลังตัดสินใจจะซื้อประกันชีวิตผู้สูงอายุ แต่ยังสับสนไม่เข้าใจในรายละเอียด แนะนำให้ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนประกัน ซึ่ง 6 คำถามหลักๆ ที่ต้องสอบถามตัวแทนประกัน มีดังนี้
1. นอกจากกรณีเสียชีวิตแล้ว ประกันยังมีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือการเบิกค่ารักษาพยาบาล และจะเบิกได้ในกรณีใดบ้าง
2. แบบประกันนั้นมีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นอะไรบ้าง เช่น มีปัญหาสุขภาพสามารถทำได้หรือไม่  
3. ระยะเวลาในการคุ้มครองและระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัย
4. วงเงินเอาประกันและค่าเบี้ยประกันภัยมีรายละเอียดอย่างไร เบี้ยประกันคงที่ตลอดอายุสัญญาหรือไม่ และเบี้ยประกันสามารถแบ่งจ่ายได้ไหม
5. หากเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตต้องทำอย่างไร ติดต่อที่ไหน เบอร์โทรอะไร
6. หากซื้อประกันชีวิตผู้สูงอายุแล้ว สามารถซื้อสัญญาอื่นเพิ่มเติมได้หรือไม่

ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ไม่ทำได้หรือไม่?

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนยังคงมีคำถามในใจว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ แล้วไม่ทำได้ไหม? ประเด็นนี้ต้องอธิบายว่า การทำประกันชีวิตผู้สูงอายุ เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งของผู้สูงอายุที่ต้องการออมเงินไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลาน ไม่ได้เป็นข้อบังคับว่าผู้สูงอายุทุกคนต้องทำ ดังนั้นในผู้สูงอายุที่สภาพการเงินไม่คล่องตัวมากนักก็ไม่แนะนำให้ทำ เพราะจะกลายเป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย แต่ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุหรือครอบครัวที่ไม่เดือดร้อนและมีสภาพคล่องทางการเงิน การทำประกันชีวิตผู้สูงอายุก็ถือเป็นการออมอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวครับ       

การทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตผู้สูงอายุหรือประกันอื่นๆ ควรมีการศึกษาข้อมูลและรายละเอียดให้ครบรอบด้านก่อนตัดสินใจทำประกันเสมอ ควรเลือกทำประกันกับบริษัทที่น่าเชื่อถือ อย่าซื้อเพียงเพราะดูโฆษณา อย่าซื้อเพราะซื้อตามเพื่อน และอย่าซื้อเพราะเชื่อตัวแทนประกัน เนื่องจากการทำประกัน ผู้สูงอายุควรดูถึงความต้องการของตัวเองเป็นหลักว่าต้องการทำประกันเพราะอะไร ถ้าต้องการทำประกันเพื่อเบิกค่ารักษาพยาบาล ก็เลือกทำประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุ แต่ถ้าต้องการทำประกันเพื่อออมเงิน ก็สามารถเลือกทำประกันชีวิตผู้สูงอายุได้ครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
 https://aommoney.com/stories/insuranger/เคลียร์ให้ชัดทุกข้อสงสัยกับประกันชีวิตผู้สูงอายุ/16821#khvldz3925
 https://rabbitfinance.com/life-insurance/life-elderly
–   https://wealthsolution.co.th/index.php/th/blogs/showArticle/17
 https://www.posttoday.com/finance-stock/money/426839

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top