“..ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก..” จากบทประพันธ์เรื่องเวนิสวานิช พระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ 6 เมื่อการฟังดนตรีไม่ได้ถูกจำกัดแค่การเสพเพื่อความบันเทิง แต่ถูกดึงนำมาใช้ในแวดวงแพทย์ทางเลือก คนบางคนอาจมีการอาการนอนไม่หลับเพราะสมองไม่หยุดคิดสักที พอหลับเองไม่ได้ ก็หันไปพึ่งยานอนหลับ ซึ่งไม่ดีแน่ ๆ ครับในระยะยาว ดังนั้นจะดีแค่ไหน ถ้าดนตรีมาแทนที่ยานอนหลับ 

  คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีนั้นส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคมของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเกิดภาวะอ่อนเพลีย ไม่สดชื่นตลอดทั้งวัน เกิดอาการวิงเวียนจากการพักผ่อนไม่พอ เสี่ยงต่อพลัดตกหกล้มได้ นอกจากนี้ อาการนอนไม่หลับยังส่งผลถึงเรื่องของต่อระดับของคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดและทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่ายขึ้นด้วยครับ เพราะว่าเจ้าคอร์ติซอลนี้มีหน้าที่หลัก ๆ ในการเพิ่มน้ำตาลในเลือด โดยผลิตน้ำตาลในตับ ซึ่งนั่นทำให้เราอยากทานของหวานมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อสมองที่ทำหน้าที่ในการเรียนรู้และจดจำ นั่นเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุตัดสินใจอะไรได้ช้าลง มาลองสังเกตตัวเองกันนะครับ ว่าเรามีอาการเช่นนี้หรือไม่ เช่น หลับยาก นอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อย ตื่นง่ายเมื่อถูกรบกวน ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรเป็น จึงทำให้ง่วงนอนช่วงเวลากลางวันและจำเป็นต้องงีบบ่อยขึ้น ทั้งหมดนี้คือปัญหาการนอนหลับที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนหลับของผู้สูงอายุ

การที่ผู้สูงอายุจะมีคุณภาพการนอนที่จะดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประเภท ดังนี้
1. ปัจจัยภายใน คือปัจจัยที่มาจากภายนอกร่างกายของเรา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่
– ปัจจัยด้านร่างกาย มาจากอาการเจ็บปวดจากปัญหาสุขภาพที่ผันแปรไปตามช่วงวัยที่เสื่อมสภาพ เช่น อาการปวดตามรข้อต่าง ๆ ของร่างกาย หรือบางคนใช้ยาขับปัสสาวะทำให้ต้องตื่นลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำช่วงกลางคืนบ่อย ๆ นอนหลับต่อยาก และยังเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดที่ส่งผลต่อการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ รวมไปถึงการดื่ม ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ ล้วนแล้วมีผลต่อการนอนหลับทั้งสิ้น
– ปัจจัยด้านจิตใจและสภาวะอารมณ์ โดยเฉพาะความเครียด ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการนอนไม่หลับ เมื่อความเครียดไปกระตุ้นการทำงานของประสาท ทำให้นอนไม่หลับ ตื่นบ่อย หลับได้น้อย ความวิตกกังวล บางคนอาจจะใช้เวลาตลอดทั้งคืนเพื่อคิดเรื่องต่าง ๆ คิดไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียดครับและโดยมากผู้สูงอายุมักกังวลในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่เสื่อมไปตามวัย โดยเฉพาะกับโรคเรื้อรัง หรือแม้แต่ภาวะซึมเศร้า ช่วงเปลี่ยนผ่านการยุติบทบาทการทำงานเข้าสู่วัยเกษียณ รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ขาดความกระตือรือร้น ก็ส่งผลต่อการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุเช่นกัน

2. ปัจจัยภายนอก คืออะไรก็ตามที่ภายนอกร่างกายของเรา ได้แก่
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ดังรบกวนการนอน อุณหภูมิที่ไม่พอดี อาจจะหนาวไปหรือร้อนไป ไม่สบายตัว แสง มีหลายงานวิจัยรายงานว่า ความมืดจะทำให้มีการหลั่งสารเมลาโทนินออกมามากขึ้น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายเตรียมพร้อมที่จะนอน แต่หากเมื่อใดที่มีแสงสว่างมาก ๆ แสงสว่างจะกลายเป็นสิ่งเร้าต่อประสาทรับความรู้สึก ทำให้เรานอนไม่หลับ แน่นอนว่าเมื่อเราตื่น ทีนี้ยาวเลยครับ หรือแม้กระทั่งการขาดความเป็นส่วนตัว ทำให้เราอึดอัดและนอนไม่หลับได้เช่นกัน

ดนตรีบำบัดช่วยเรื่องการนอนไม่หลับ โดยไม่ใช้ยา

การนำดนตรีมาใช้รักษาความเจ็บปวดซึ่งมีมาหลายพันปีตั้งแต่สมัยยุคกรีกโน่นล่ะครับ เราเรียกการรักษานี้ว่า “ดนตรีบำบัด (Music Therapy) คือ การใช้กิจกรรมทางดนตรี ไม่ว่าจะฟังหรือเล่น เพื่อบำบัดความเจ็บป่วย ฟื้นฟูสภาพร่างกายและพัฒนาด้านอารมณ์ ซึ่งดนตรีสามารถกระตุ้นสมองได้เกือบทุกส่วน โดยกลไกทางสมองที่เกี่ยวข้องกับดนตรีจะเกิดขึ้นเวลาที่เราฟังเสียง เสียงจะกระทบเข้าไปในหู และไปสั่นสะเทือนบริเวณกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ในหูชั้นกลาง จากนั้นแปรสัญญาณเข้าสู่หูชั้นใน แล้วจึงส่งไปยังสมอง ดังนั้นเวลาที่เราฟังเสียง หูของเราจะรับทั้งเสียงและการสั่นสะเทือนด้วยครับ

ดนตรีบำบัดช่วยให้นอนหลับได้จริงหรือ?

เมื่อพูดถึงเรื่อง ดนตรีบำบัดกับการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ นั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่าจริง ๆ แล้ว เสียงที่ใช้บำบัดไม่ได้มีเพียงแค่เสียงดนตรีนะครับ แต่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำไหล เสียงลมพัด เสียงคลื่นซัด เป็นต้น เสียงมนุษย์ที่เปล่งออกมา และเสียงจากเครื่องดนตรี เสียงดนตรีสามารถช่วยบำบัดอาการนอนไม่หลับได้ เพราะว่าเสียงดนตรีช่วยให้เราผ่อนคลายทำให้เราหายใจช้าลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเครียดและความกังวล รวมถึงยังกระตุ้นฮอร์โมนเซโรโทนินและออกซิโทซิน ช่วยลดฮอร์โมนคอร์ติซอลแห่งความเครียดที่ทำให้นอนไม่หลับ แต่การที่เสียงที่ใช้บำบัดจะช่วยให้เรานอนหลับได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 2 รูปแบบ ดังนี้
1. เสียงจะเยียวยาคนที่หลับไม่ลึกเป็นเวลานานๆ หรือคนที่หลับๆตื่นๆ เพราะคิดมากก็จะต้องใช้เสียงมาบำบัด
2. เสียงบำบัดกับการที่คิดมากและหลับ ๆตื่น ๆเป็นเวลาสั้น ๆ เราจะใช้คลื่นที่เรียกว่า DELTA คลื่น DELTA จะทำให้เราแค่เคลิ้ม ๆ หลับ เริ่มที่จะง่วงนอน โดยคลื่นเสียงพวกนี้จะค่อย ๆ ทำให้เราหลับลึกขึ้นเรื่อย ๆ จากการส่งสัญญาณไปที่สมองนั่นเองครับ

คำแนะนำในการฟังดนตรีบำบัดเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ

1. ควรจัดบรรยากาศห้องนอนให้เหมาะสมที่จะนอน โดยห้องนอนจะต้องมืดสนิทและเงียบสงบ ไม่มีปัจจัยใด ๆ มากระตุ้น เช่น แสง สี เสียง กลิ่น อุณหภูมิภายในห้องควรพอดี ไม่หนาวไป หรือร้อนไป ห้องนอนนอนที่ดีไม่ควรมีทีวีนะครับ เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่
2. เลือกดนตรีที่เราชอบ ไม่มีเนื้อร้อง เราจะรู้สึกได้เองว่าเราผ่อนคลาย อีกทั้งการฟังดนตรีที่ชอบ อาจจะเป็นเพลงบรรเลงดนตรีไทยหรือดนตรีคลาสสิคช้า ๆ จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คอร์ติซอลที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดก็จะดลดลงด้วยครับ
3. ควรใช้เวลาในการฟังวันละ 1 ครั้ง ๆ ละ 30-45 นาที ก่อนเข้านอนช่วงเวลากลางคืน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน ติดต่อกันนาน 4 อาทิตย์ จะทำให้ประสิทธิภาพในการการนอนของผู้สูงอายุดีมากขึ้น
4. หากเพลงที่เราเลือกไม่ได้ผล แนะนำให้ค้นหาบน google โดยพิมพ์คำว่า ALPHA ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราพักผ่อนและมีความสงบแต่อยู่ในสภาวะที่ยังรู้สึกตัว มีให้เลือกฟังมากมาย
เอลเดอร์ยกคลื่นเสียง ALPHA บางส่วนมาให้เลือกฟังกันด้วยครับ
– – – – – – 5. หากใช้หมดทุกอย่างที่แนะนำมาแล้ว แต่ยังนอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับเลือกคลื่นเสียงกับคลื่นสมองให้ตรงกัน

       หากใครนอนไม่หลับ แนะนำเลยครับ ดนตรีบำบัดในผู้สูงอายุ ก็ช่วยได้ไม่เลวทีเดียวเลย อย่างที่เอลเดอร์เอามาฝากกัน จริง ๆ แล้วดนตรีบำบัดไม่จำเป็นต้องใช้แค่ในคนป่วยนะครับ เพราะดนตรีบำบัดนอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยในเรื่องการนอนหลับ ยังช่วยพัฒนาและผลักดันศักยภาพ รวมถึงทักษะอื่น ๆ ให้ดีขึ้นครับ หากใครกำลังประสบกับปัญหาการนอนไม่หลับ ลองใช้ดนตรีบำบัดที่ว่านี้แทนการใช้ยาดูนะครับ

ขอขอบคุณข้อมูล
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช. ผลของดนตรีต่อคุณภาพการนอนหลับ. [อินเทอร์เน็ต]. วารสารสภาพยาบาลปีที่ 33 ก.ค. – กันยายน 2561[เข้าถึงเมื่อ 10 พ.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thai-explore.net/search_detail/result/6431

– พวงพยอม ปัญญา and others. (2547) การนอนหลับและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับในผู้สูงอายุ. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่:เชียงใหม่. เข้าถึงได้จาก: https://dric.nrct.go.th/index.php?/Search/SearchDetail/151605

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top