คงไม่มีใครอยากจะลำบากตอนแก่กันใช่ไหมล่ะครับ หากใครเริ่มต้นเก็บเงินได้ไว คนนั้นก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะหลายครั้งคนเราก็มักจะมองว่าวัยเกษียณนั้นอีกยาวไกล แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณเข้าสู่วัยสูงอายุในช่วง 40 ปลาย นั่นแปลว่าคุณมีเวลาหาเงินได้อีกแค่ไม่เกิน 20 ปี อนาคตที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คุณจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคุณจะมีเงินเก็บที่มากพอสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่หลังเกษียณ เอลเดอร์จะมาพาทุกคนไปสำรวจตัวเองก่อนการวางแผนทางการเงินอย่างเป็นขั้นตอน แล้วจะไม่มีคำว่า “รู้งี้” หรือ “ถ้า…”

การเกษียณคืออะไร? ทำไมต้องวางแผนการเงิน?
การเกษียณ คือการหยุดทำงานประจำและไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเกษียณอายุแล้ว เรายังคงต้องใช้ชีวิต ใช้เงิน หากเราไม่เห็นความสำคัญ และไม่มีการวางแผนชีวิตหลังเกษียณ หรือเริ่มเตรียมความพร้อมเมื่อมีอายุใกล้จะเกษียณแล้ว อาจทำให้มีเวลาน้อยเกินไปที่จะเตรียมการออมเพื่อการเกษียณ
โค้งสุดท้ายก่อนเกษียณกับการออมเงิน
จริง ๆ แล้วการประมาณการและเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ ควรเริ่มคร่าว ๆ ก่อนการเกษียณสัก 20 – 30 ปี นั่นจะยิ่งช่วยให้คุณมีความมั่นคงในช่วงเกษียณอายุได้มากยิ่งขึ้น แต่หากใครพลาดไปแล้ว ไม่เป็นไรครับ เราเริ่มเสียตั้งแต่ตอนนี้ โดยในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเกษียณ จะออกแบ่งช่วงอายุออกเป็น 2 ช่วง คือ
– ช่วงอายุ 40 – 50 ปี เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ครอบครัวเริ่มมั่นคงภาระการเงิน/การผ่อนชำระหนี้ สิน
ต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลาย ควรออมเงินประมาณ ร้อยละ 30 ของรายได้ วัยนี้ควรเริ่มลงทุนใน อสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้เพิ่มที่มีความเสี่ยงน้อย สัดส่วนการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ เงินฝาก และอสังหาริมทรัพย์ที่เหมาะสมโดยเฉลี่ย คือ 30 : 30 : 20 : 20
– ช่วงอายุ 50 – 60 ปี เป็นวัยที่มีความมั่นคงที่สุด ควรเริ่มคิดถึงการใช้เวลาว่างแต่คนส่วนใหญ่เมื่อถึง วัยนี้เพิ่งเริ่มนึกถึงการวางแผนเพื่อเกษียณอายุ สัดส่วนการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้เงินฝาก และ อสังหาริมทรัพย์ที่เหมาะสมโดยเฉลี่ย คือ 20 : 30 : 30 : 20 และควรซื้อประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ไว้ด้วย

สิ่งที่ต้องคำนึงในการวางแผนเพื่อการเกษียณ
เชื่อว่าหลายคนเมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็จะเริ่มตั้งเป้าหรือวาดฝันการเห็นตัวเองหลังจากเกษียณไปแล้วว่าจะเป็นอย่างไร การวางแผนการเงินจะช่วยให้คุณอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อนใคร แต่หากใครที่ทำงานมานานหรือเริ่มเข้าวัยสูงอายุ แต่ยังไม่เคยวางแผนการเงินเลย ไม่ต้องกังวลครับ เพราะแค่คุณเริ่มคิดและลงมือทำ ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไป สิ่งที่ต้องคำนึงในการวางแผนเพื่อการเกษียณ มี 5 หลักใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ตั้งเป้าว่าจะเกษียณตัวเองเมื่อไหร่
เคยคิดกันเล่น ๆ ไหมครับ ว่าตัวเองอยากจะเกษียณเมื่อไหร่ หรือเคยนึกภาพตัวเองหลังเกษียณกันไหม ว่าพอหลังเกษียณไปแล้ว ตัวเราจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะเมื่อใดที่คุณเกษียณตัวเองไปแล้ว นั่นหมายความว่าคุณจะไม่มีรายได้ประจำอีกแล้ว เพราะบางคนที่สามารถเลือกได้ก็จะเลือกที่จะทำงานให้ยาวขึ้น เพื่อใช้เวลาในการเก็บเงินให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนแล้ว มักจะถูกขีดเส้นอายุเกษียณเอาไว้ที่ 60 ปี ฉะนั้น การตั้งเป้าการเกษียณจะช่วยให้เราวางแผนการเงินช่วงหลังเกษียณได้ถูกนั่นเอง เพราะคงไม่มีใครอยากทำงานงก ๆ ไปตลอดทั้งชีวิต
2. จะใช้ชีวิตหลังเกษียณกี่ปี
คำถามนี้ฟังดูเหมือนแช่งกันเลยนะครับ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะการที่เราประมาณการณ์คร่าว ๆ ว่าเราต้องการจะใช้ชีวิตไปอีกกี่ปีนับตั้งแต่เกษียณ จะช่วยให้เราคำนวณจำนวนเงินที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตได้ถูก เคยได้ยินคำกล่าวนี้ไหมครับ ว่า “น่าเสียดาย จะตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด น่าสลดเงินหมดแล้วแต่ยังไม่ตาย” นั่นเพราะเราไม่สามารถล่วงรู้อนาคตได้ครับ แล้วเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ทำให้คนอายุยืนกันมากขึ้น อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ การมีเงินเหลือย่อมดีกว่าขาด
เช่น ถ้าคุณอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณต่อไปอีก 20 ปี (80 ปี)
มีชีวิตต่อไปอีก 20 ปี (1 ปี = 365 วัน) = 365 x 20
= 7,300 วัน
ถ้ามีค่าอาหารวันละ 300 บาท (1 มื้อ = 100 บาท) = 7,300 x 300
= 2,190,000 บาท
ดังนั้นคุณจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารในช่วงวัยเกษียณ 2,190,000 บาท นั่นแปลว่าในช่วง 20 ปีให้หลัง เป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินไปกับแค่ค่าอาหารอย่างเดียวด้วยเงินก้อนขนาดนี้ โดยที่ไม่มีรายได้ประจำอีกแล้ว
3. ประมาณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
จากข้อ 2 เราจะได้เห็นค่าใช้จ่ายบางส่วนในชีวิตหลังเกษียณที่คุณจะต้องดำเนินชีวิตต่อไปกันอย่างคร่าว ๆ แล้วนะครับ คำถามต่อมาคือแล้วชีวิตหลังเกษียณของเราจะเป็นอย่างไร “คุณภาพชีวิต” จะเป็นเหมือนเดิมหรือไม่จะจับจ่ายใช้สอยได้คล่องมือเหมือนเมื่อตอนยังทำงานอยู่ได้ไหม ถ้าต้องการจะรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตหลังเกษียณเอาไว้ให้ได้พอ ๆ กับช่วงก่อนเกษียณ เราจะต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายสักประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายเดือนสุดท้ายก่อนจะเกษียณ แต่ในความเป็นจริงบางคนอาจจะต้องใช้เงินมากกว่าตอนที่ยังไม่เกษียณเสียอีกเพราะปัญหาด้านสุขภาพ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพก็อาจจะต้องเตรียมเงินไว้ถึง 110% ของรายจ่ายในวัยเกษียณ ทีนี้เราจะมาดูกันต่อครับว่าค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณมีอะไรบ้างที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง
ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ

ลดลง
– ค่าผ่อนบ้าน
– ค่าด้านสังคม
– ค่าการศึกษาบุตร
– ค่าประกันชีวิต
– ค่าภาษีเงินได้
เพิ่มขึ้น
– ค่ารักษาพยาบาล
– ค่าเดินทางท่องเที่ยว
– ค่าใช้จ่ายในการทำบุญ
– ค่ากินค่าอยู่
4. รายได้โดยประมาณการที่จะเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
แต่ก่อนที่เราจะไปเริ่มวางแผนเกษียณ เราจะต้องรู้ก่อนครับ ว่าเรามีเงินออมสำหรับค่าใช้จ่ายตรงนี้อยู่แล้วเท่าไร ไม่ว่าการออมนั้นจะมาจากการสมัครใจหรือไม่ก็ตาม เช่น บางบริษัทหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท นอกจากจะต้องรู้เงินออมทั้งหมดแล้ว ยังต้องรู้ด้วยว่าผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินก้อนนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะเงินออมและผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้นี้ จะเป็นแหล่งรายได้ให้กับเราในวัยเกษียณนั่นเอง
5. ยอดเงินออม ณ วัยเกษียณ กับการวางแผนทางการเงิน
หลังจากรู้ว่าเราจะต้องใช้เงินเท่าไรในช่วงวัยหลังเกษียณ และจำนวนเงินออมที่มีอยู่ตอนนี้มีอยู่เท่าไร ก็นำมาหักลบกันเพียงเท่านี้ก็จะรู้ว่าเรา ก็จะรู้ว่าต้องเก็บเงินเพิ่มอีกเท่าไร และจะวางแผน การออมที่เหมาะสมได้อย่างไรในระยะเวลาที่ยังทำงานอยู่เริ่มจากการวางแผนว่าในแต่ละเดือนเราควรจะออมเงินเป็นจำนวนเท่าไร
ยกตัวอย่าง
เอลเดอร์ขอยกตัวอย่างการคำนวณเป้าหมายในการวางแผนเงินช่วงเกษียณเบื้องต้นกันก่อนครับ
สมมติ นาย A อายุ 40 ปี มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท ตกปีละ 360,000 บาท
ตั้งเป้าหมายที่จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี เท่ากับมีเวลาทำงานและเก็บเงินอีกแค่ 20 ปี ซึ่งตั้งเงื่อนไขที่จะมีชีวิตอยู่แค่ไม่เกิน 80 ปี นั่นแปลว่า วันที่นาย A อายุ 60 ปี ไม่มีรายได้เข้ามาแต่ต้องมีเงินเก็บถึง 7,200,000 บาท
เราจะมาดูกันครับว่า 7,200,000 นั้นมาจากไหน?
มาจาก 360,000 (ค่าใช้จ่ายทั้งปี) x 20 (อายุขัยที่เราคาดว่าจะอยู่) = 7,200,000 บาท
(ในที่นี้ไม่คำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ)
เพราะฉะนั้น เงิน 7,200,000 ในวันที่คุณไม่มีงานประจำหรือรายได้ที่จะมาซัพพอร์ตอีกแล้ว
จะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตของคุณหรือไม่ หากคุณยังไม่เริ่มที่จะเก็บออมเงินเสียตั้งแต่วันนี้

สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการออมเงิน คือการรักษาสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีเงินออมน้อย เพราะรายจ่ายจะลดลงไปมากเลยทีเดียว ส่วนเทคนิคในการออมเงินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือวัยเกษียณที่กำลังเข้ามา สามารถติดตามได้ในบทความต่อ ๆ ไปกันนะครับ
ข้อมูลอ้างอิง
– https://bit.ly/3tukOCm
– https://bit.ly/3gkMTZe
– https://bit.ly/32rqeSA