จากบทความตอนที่แล้วที่เอลเดอร์พาสำรวจตัวเองเพื่อตั้งเป้าหมายในการวางแผนการเงินในช่วงวัยเกษียณกันไปแล้ว ในบทนี้เราจะมาดูเทคนิคการออมเงินกันบ้าง ว่าเราสามารถออมเงินได้ด้วยวิธีใดบ้าง หากใครพร้อมที่ออมเงินแล้ว เราไปลุยพร้อม ๆ กันเลยครับ

แหล่งเงินได้หลังเกษียณ

หากเราไม่มีรายได้ประจำอีกแล้ว เคยคิดกันไหมครับว่าเราจะหาเงินจากไหนมาออม? ซึ่งหลังเกษียณเราจะมีรายได้จากแหล่งดังต่อไปนี้

เงินฝากประจำ 30%

ถ้าจำกันได้ในบทที่แล้ว เอลเดอร์แนะนำว่าเราควรออมเงินประมาณ ร้อยละ 30 ของรายได้ โดยสามารถเลือกฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ หรือฝากประจำปลอดภาษีก็ได้เช่นกัน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เป็นเงินที่เราและนายจ้างสมัครใจกันสมทบเข้ากองทุน ถ้าเราสะสมเงินตั้งแต่อายุ 25 ปี สะสม 3% ของเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท เงินเดือนเพิ่มปีละ 5% นายจ้างสมทบอีก 3% กองทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% พอเราอายุ 60 ปี เราจะมีเงินประมาณ 1.2 ล้านบาท

กองทุนประกันสังคม

ประกันสังคมเป็นระบบออมเพื่อเกษียณอายุ โดยจะเป็นการออมภาคบังคับ โดยเน้นสร้างหลักประกันและความมั่งคง แต่ไม่ได้เน้นความมั่งคั่ง เช่น เราจ่ายเงินสมทบ 15 ปี พออายุ 55 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ประมาณ 3,000/เดือน คิดจากเพดานเงินสูงสุด 15,000 บาท ถ้าจ่ายสมทบเกิน 15 ปี จะได้โบนัสอีกปีละ 1.5% สมมติเราจ่ายมา 30 ปีก่อนเกษียณ ก็จะได้โบนัส 15 ปี หรือ 3,375 บาท รวมเป็น 6,375 บาท คุณคิดว่าพอต่อการดำรงชีวิตไหมครับ?

ต้องออมเป็นสัดส่วนเท่าไรจึงจะเพียงพอ?

ข้อนี้ไม่มีกฎตายตัว ขั้นต่ำควรจะประมาณ 10% และขั้นสูงอาจจะถึง30 หรือ 35% ของรายได้ ในช่วงที่รายได้ยังไม่สูง การออม 10% ถือว่าเหมาะสมแล้วครับ เพราะถ้าออมมากกว่านั้นอาจจะทำให้เรามีเงินใช้ไม่พอ แต่เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น เราก็ควรจะออมเพิ่ม ไม่ควรจะนำรายได้ส่วนเพิ่มไปใช้จ่ายจนหมด โดยเฉพาะเมื่อเราหมดภาระในการ ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน เราจะมีเงินที่เราเคยต้องเก็บเพื่อไปผ่อนอยู่ประมาณ 20-30% ของรายได้คือส่วนที่ควรจะออมเพิ่ม

สำหรับวัยที่มีภาระในการใช้จ่ายสูง อย่างวัย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะออมเพื่อการเกษียณเพียง 5% ของรายได้และเมื่อภาระการผ่อนรถผ่อนบ้านลดลง ก็กลับไปออมเพิ่มขึ้นได้

เวลาคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต้องคำนวณเผื่อคนอื่นหรือไม่

ถ้าใครที่มีภาระที่ต้องดูแลผู้อื่นหรือเอาไว้พบปะสังสรรค์เพื่อนฝูงบ้าง ก็ควรคำนวณเผื่อเอาไว้จะดีกว่าครับ เพราะฉะนั้นในการประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ต้องอย่าลืมค่าใช้จ่ายกลุ่มนี้ด้วย ถ้าอยากจะเกษียณอย่างมีความสุข ควรจะมีเงินประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไป อยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านบาทมากกว่า 2 ล้านบาท เพราะถ้ามีเงิน 10 ล้านบาท ลงทุนได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ในระยะเวลา 25 ปีจะสามารถใช้เงินได้เดือนละ 58,563 บาท ถือว่าน่าจะทำให้อยู่ได้อย่างสบายเลยครับ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด

5 เทคนิคออมเงินสำหรับวัยเกษียณ

ต่อไปเราจะมาดูเทคนิคการออมเงินสำหรับวัยเกษียณกันบ้างครับ พบว่าแต่ละเทคนิคก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันเพื่อใช้วางแผนทางการเงินดังต่อไปนี้

1. การออมเงินก่อนใช้
การใช้เงินแล้วจึงมาออมเงินจากส่วนที่เหลือเป็นความคิดที่เสี่ยงมาก เพราะถ้าไม่วางแผนการใช้เงินก็จะทำให้ใช้เงินที่คิดจะออมจนหมด แต่ถ้ากำหนดจำนวนเงินที่ตั้งใจจะออมไว้ ก่อนแล้วค่อยใช้เงินจากส่วนที่เหลือ จะได้เงินที่ ตั้งใจออมและมีเงินไว้ใช้ได้อย่างประหยัด “ออม ก่อน” ใช้หรือ“ออมก่อนจ่าย”แปลว่าเมื่อได้รับราย ได้มาเท่าไรให้แบ่งเงินส่วนหนึ่งเก็บออมไว้ก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือมาใช้จ่าย จะทำให้สามารถ ออมเงินได้ในทุกๆ ครั้งเมื่อได้รับรายได้เข้ามา ดังนั้น จึงควร “ออมก่อนใช้” ไม่ใช่ “ใช้เหลือแล้วจึงออม” เพราะโดยธรรมชาติของคนเรานั้นมักจะขาด วินัยในการออม แม้ตั้งใจจะใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อจะออมให้ได้ก็มักทำไม่สำเร็จ หลักการก็คือว่า สร้างระบบการออมที่หักเงินไปออมทันทีที่เงินเดือน ออกเพื่อให้สามารถ “ออมก่อนใช้” ได้สำเร็จนั่นเองครับ

2. การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
ตามหลักแล้วเราจะแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน คือ ค่าใช้จ่ายที่เรากันเงินเอาไว้ก่อนใช้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการจ่ายให้เราเดินตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ที่สำคัญอย่าลืมแยกบัญชีเงินออมและลงทุนออก จากบัญชีใช้จ่ายส่วนตัว เพื่อป้องกันความสับสน และเผลอถอนเงินออมออกมาใช้
2. ค่าใช้จ่ายคงที่ เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่าย เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนทุกเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ
3. ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายจิปาถะที่มีจำนวน ไม่เท่ากันในแต่ละเดือน มีบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่แน่นอน ยืดหยุ่นไปตามกิจกรรมที่ทำในเดือนนั้น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล หากใครมีปัญหาเงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน แนะนำว่าควร “ลดรายจ่าย” และ “หารายได้เพิ่ม” ก็ช่วยได้เยอะเลยครับ

3. การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย
คุณต้องรู้จักใส่ใจในการจ่ายเงินเล็ก ๆ น้อย ๆด้วยการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เอลเดอร์ขอแนะนำวิธีการทำรายรับรายจ่ายง่าย ๆ กันครับ เพียงแค่พกสมุดโน้ตเล่มเล็ก ๆ และปากกาติดกระเป๋าเอาไว้แล้วจดทุกครั้งที่ได้รับเงินมาหรือใช้เงินไป ไม่ว่าเงินก้อนนั้นจะเล็กน้อยขนาดไหนก็ตาม แต่เดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกรายรับรายจ่าย ยิ่งทำให้สะดวกมากขึ้นเยอะเลยครับ ซึ่งประโยชน์ของการทำรายรับรายจ่าย จะทำให้เรารู้ถึงการใช้จ่ายของตัวเอง ช่วยให้สามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และยังทำให้มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เรารู้จักตัวเองและเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของตัวเราอีกด้วยครับ

4. การกำหนดเป้าหมายและบรรลุเป้าหมายให้ได้
หากเราออมเงินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีเป้าหมาย มันจะทำให้เราขาดแรงบันดาลใจที่จะเก็บเงิน เอลเดอร์แนะนำให้ลองเริ่มตั้งเป้าหมายระยะสั้นดูก่อน จะ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี และเก็บเงินให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ เมื่อเราสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ เราจะรู้สึกภูมิใจและมีกำลังใจที่จะเก็บเงินต่อ จากนั้นเมื่อเราทำเป้าหมายระยะสั้นได้แล้ว ค่อยขยายเป้าหมายให้มีระยะที่ยาวขึ้น

5. การฝากประจำกับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยสูง
การเก็บเงินแบบไม่ เสี่ยงต่อการขาดทุนคือการฝากเงินกับธนาคารด้วย อย่างบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี ซึ่งเป็นวิธีรักษาเงินก้อนที่มีความเสถียรและความเสี่ยงต่ำที่สุด เราสามารถเลือกฝาก 24 เดือน หรือ 36 เดือน โดยฝากด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุก ๆ เดือน ห้ามถอน จะช่วยให้มีระเบียบวินัยในการออมมากขึ้น นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษียังสูงกว่าฝากประจำ เรามาลองเปรียบเทียบความแตกต่างกันดู จากตารางข้างล่างนี้กันครับ

ฝากประจำทั่วไป VS ฝากประจำปลอดภาษี

ฝากประจำทั่วไปฝากประจำแบบปลอดภาษี
ดอกเบี้ยน้อยกว่าดอกเบี้ยสูง
เสียภาษีดอกเบี้ยไม่เสียภาษีดอกเบี้ย
ฝากขั้นต่ำ 1,000 – 1,500 บาทขึ้นไปฝากขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุด 25,000 บาท
ระยะเวลาเริ่มต้นฝาก 3 – 36 เดือนระยะเวลาเริ่มต้นฝาก 24 เดือนขึ้นไป
เปิดได้หลายบัญชีเปิดได้ 1 บัญชีเท่านั้น

ตารางเปรียบเทียบบัญชีเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี 24 เดือน

ธนาคารชื่อบัญชีเงินฝากเปิดบัญชีดอกเบี้ย(%ต่อปี)
ไทยเครดิตบัญชีเงินฝากปลอดภาษี1,000 – 25,0002.00
ธ.ก.ส.บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน1,000 – 25,0001.63
ซีไอเอ็มบี ไทยบัญชีเงินฝากประจำเพิ่มค่าสบายใจ Plus15,000 – 25,0001.60
ยูโอบีบัญชีเงินฝากปลอดภาษีทวีสิน1,000 – 15,0001.50
ไทยพาณิชย์บัญชีเงินฝากโบนัส (24 เดือน) ไม่มีสมุดคู่ฝาก500 – 25,0001.35
ออมสินบัญชีเงินฝากประจำรายเดือน ยกเว้นภาษี1,000 – 25,0001.30
กสิกรไทยบัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ 24 เดือน500 – 25,0001.25
กรุงเทพบัญชีเงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี1,000 – 25,0001.25
กรุงศรีอยุธยาบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี1,000 – 25,0001.25
กรุงไทยบัญชีเงินฝากประจำ KTB Zero Tax Max1,000 – 25,0001.20
*ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2564

อยากมีชีวิตที่สบายยามเกษียณ อย่ารอหวังน้ำบ่อน้ำ แต่จงเริ่มสร้างและเก็บออมเงินเสียตั้งแต่วันนี้นะครับสำหรับช่องทางในการออมเงินอื่น ๆ จะมีอะไรอีกบ้าง สามารถติดตามกันได้ในบทความต่อ ๆ ไป ที่เอลเดอร์จะนำมาฝากกัน 

ข้อมูลอ้างอิง
– ข้อมูลธนาคารต่าง ๆ ไทยเครดิต, ธ.ก.ส, ซีไอเอ็มบี ไทย, ยูโอบี, ไทยพาณิชย์, ออมสิน, กสิกรไทย, กรุงเทพ, กรุงศรีอยุธยา, กรุงไทย
https://bit.ly/3tD1ClL
https://bit.ly/3dByFkR
https://bit.ly/32yEVU6
https://bit.ly/3xcmNgK

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top