โรคไต เป็นอีกโรคยอดฮิตในไทย ที่พบว่ามีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากสถานการณ์โรคไตในปัจจุบันของไทย พบว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยโรคไตเพิ่มขึ้น 70% คนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 หรือประมาณ 11.5 ล้านคน และพบคนไทยป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย รวมถึงคนไทยการผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้เพียงปีละ 500 ราย และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบคือผู้สูงวัย เอลเดอร์จึงอยากชวนผู้สูงวัยทุกท่านเช็คสัญญาณเตือนโรคไต ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ เพื่อป้องกันไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง 

1. โรคไตเรื้อรังมีสาเหตุจากอะไร ?

โรคไตเรื้อรังเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
1. ความผิดปกติแต่กำเนิดของไต และทางเดินปัสสาวะ เช่น มีไตเพียงข้างเดียวไตเล็กการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ภาวะปัสสาวะไหลย้อน
2. การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่รุนแรง หรือการติดเชื้อซ้ำ ๆ หลายครั้งซึ่งในเด็กมักพบร่วมกับความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ
3. โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ นิ่วในไต อ้วนอย่างรุนแรง โรค เอสแอลอี (SLE) และไตอักเสบ  
4. โรคเนื้องอกของไต
5.โรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มโรคถุงน้ำของไตไตอักเสบบางโรค 
6. เกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด และลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ซึ่งเรียกว่า “เอ็นเสด (NSAID)” ยาต้านจุลชีพบางชนิด ยาลดความอ้วน สารพิษ ยาสมุนไพรบางชนิด เช่น ไคร้เครือ  

2. สัญญาณเตือนโรคไต ผู้สูงวัยควรรู้ ?

อาการโรคไตในระยะแรกส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการเตือนให้ทราบล่วงหน้า โรคไตจึงเปรียบเสมือนภัยเงียบอย่างนึง มักจะแสดงอาการออกมาก็ต่อเมื่อไตเริ่มเสื่อมแล้ว การหมั่นตรวจเช็คสัญญาณโรคไตจึงเป็นสิ่งสามารถช่วยป้องกันได้ในเบื้องต้น โดยการเช็คอาการเหล่านี้ว่าพบความผิดปกติกับตนเองหรือไม่ ? หากผิดปกติจะได้เข้ารับการตรวจตามขั้นตอนทางการแพทย์อย่างทันท่วงที  ผู้สูงวัยควรเช็กสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้ 

1.อาการทางระบบปัสสาวะ
1.1 ปัสสาวะเป็นเลือด ( bloody urine)
  หากปัสสาวะมีเลือดปนที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือลักษณะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ สาเหตุอาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ  
1.2 ปัสสาวะแสบขัดหรือปัสสาวะลำบาก การที่เวลาขับถ่ายปัสสาวะมีอาการแสบขัด มักเกิดจากการอักเสบของท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งบ่งชี้ถึงการติดเชื้อหรืออาการปัสสาวะลำบาก อาจเกิดจากการอุดกลั้นของทางเดินปัสสาวะ โรคที่พบบ่อยอัน ได้แก่ ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย
1.3 ปัสสาวะมีฟอง เกิดจากการมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นอาการของภาวะโรคไตเรื้อรัง หรือเกิดจากโรคไตชนิดเนฟโฟรติก ซึ่งจะมีอาการบวมบริเวณหนังตาในตอนเช้าหรือถ้าเป็นมากอาจมีอาการบวมทั้งร่างกาย ร่วมกับปัสสาวะเป็นฟองปริมาณมาก
1.4 ปัสสาวะมีกรวด หรือทรายออกมา ลักษณะกรวดหรือทรายที่ออกมาเป็นตัวบ่งชี้ว่า มีนิ่วอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจจะมีอาการปวดเอว ปวดหลังร่วมด้วย ในบางรายอาจพบร่วมกับมีปัสสาวะเป็นเลือด
1.5 ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ในภาวะปกติ คนเราภายหลังการนอนหลับจะไม่ได้มีดื่มน้ำ ไตจะมีหน้าที่ดูดกลับน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะลดลงและถูกเก็บในกระเพาะปัสสาวะ ในช่วงเวลาที่เรานอนหลับ จึงไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ แต่ถ้าไตมีความผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถดูดกลับน้ำได้เท่าปกติ จะทำให้ผู้ป่วยต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยมากขึ้น
นอกจากนี้ “ภาวะปัสสาวะบ่อย” อาจไม่ได้เกิดจากโรคไตเรื้อรังเท่านั้น อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ โรคเบาหวาน หรือโรคเบาจืด 

2. มีอาการบวมตามร่างกาย 
อาการบวม สามารถเกิดได้จาก การที่ไตไม่สามารถขับน้ำและเกลือได้อย่างปกติ จนเกิดการคั่งของน้ำและเกลือ จนเกิดอาการบวมหรืออาจเกิดจากโปรตีนไข่ขาวรั่วออกไปทางปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบวม  

3. อาการคันตามตัว /คลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร /ภาวะโลหิตจาง
อาการเหล่านี้นั้นไม่จำเพาะต่อโรคไต เป็นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคไต แต่ในโรคไตเรื้อรังนั้น จะทำให้มีอาการเหล่านี้ได้ โดยอย่างไรก็ตามถ้ามีอาการเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับโรคไต มักเกิดในโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต

4. อาการปวดเอว 
อาการปวดนั้นอาจจะพบที่บริเวณเอวเกิดจากรอยโรคที่บริเวณไต ซึ่งอยู่บริเวณหลังเอวทั้ง 2 ข้าง โดยสาเหตุมักเกิดจาก นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากโรคถุงน้ำที่ไต หรือเนื้องอกของไตได้

5. อาการปวดหลัง 
อาการปวดหลัง บริเวณบั้นเอวหรือชายโครงด้านหลัง และอาจปวดร้าวไปที่ท้องน้อย ต้นขาหรืออวัยวะเพศได้ด้วย

6. ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ 
ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติหรือความดันโลหิตสูงที่คุมได้ยากโดยจำเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดในการควบคุม สาเหตุอาจเกิดจากโรคไตโดยโรคไตที่นึกถึงคือ ภาวะเส้นเลือดแดงของไตตีบ โรคไตอักเสบหรือโรคไตเรื้อรัง

7. การคลำพบก้อนบริเวณไต
อาจเกิดจากโรคไตเป็นถุงน้ำ ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์หรืออาจเกิดจากเนื้องอกของไตได้

การรักษาผู้ป่วยโรคไต ควรได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อที่แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรค ควบคุมรักษาที่สาเหตุ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง หากผู้สูงวัยมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ควรรีบเข้าไปตรวจเช็คและรักษาจากแพทย์เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกต้อง และเหมาะสม อย่ารอช้านะครับเอลเดอร์เป็นห่วง!

3. วิธีดูแลตนเองในห่างไกลโรคไตเสื่อม 

การดูแลและป้องกันตนเองให้ห่างจากโรคไตเสื่อม เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควบคู่ไปกับการตรวจเช็คสุขภาพร่างกายของผู้สูงวัย เนื่องจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตส่งผลต่อสุขภาพ เอลเดอร์จึงมีเคล็ดลับในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคไตเสื่อมมาฝากผู้สูงวัยทุกท่านครับ 

ลดเค็ม ลดโซเดียม
สาเหตุสำคัญของเสื่อมส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่ควรได้รับ เนื่องจากในชีวิตประจำวันอาหารที่เราทานเข้าไปส่วนใหญ่มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง เช่น โซเดียมจากอาหารธรรมชาติ อาหารหมักดอง เครื่องปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูปต่าง ๆ ผู้สูงวัยทุกท่านจึงควรลดการทานเค็ม และลดปริมาณโซเดียมลง 

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หากผู้สูงวัยขาดการออกกำลังกาย อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆเกิดขึ้นเนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หรือโรคหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อไตให้เสื่อมเร็วขึ้นได้เช่นกัน 

ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกาย ควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วต่อวัน ขึ้นกับปริมาณน้ำที่สูญเสียไป 

ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
การทานผักผลไม้สดเพื่อเสริมสร้าง วิตามินและ ธาตุต่าง ๆ เป็นตัวเลือกที่ดี ลดการรับประทานเนื้อแดง และอาหารที่มีไขมันสูง  

ลดหรืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับสัญญาณเตือนโรคไตที่เอลเดอร์นำมาฝากผู้สูงวัยทุกท่าน เรื่องไตเสื่อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมีโอกาสเผชิญไม่เฉพาะผู้สูงวัยเพียงเท่านั้น แต่ในวัยของเราการรักษาโรคย่อมยากกว่าวัยอื่น เนื่องจากจากเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มากมาย การรู้เท่าทันและป้องกันได้เร็วย่อมดีกว่า เพื่อที่จะได้รู้แนวทางในการรักษาและรู้วิธีการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างปลอดภัย 

ข้อมูลอ้างอิง

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top