ผู้สูงวัยท่านใดเคยมีอาการเหล่านี้บ้าง ? เวลานอนรู้สึกอึดอัด หรือเหมือนกับว่ามีบางอย่างนอนกดทับร่างกาย โดยไม่สามารถขยับร่างกายหรือพูดคุยได้ หรือบางครั้งรู้สึกว่าตื่นนอนแล้วมีสติ แต่ขยับตัวไม่ได้เลย ซึ่งอาการเหล่านี้มักเป็นตอนที่นอนหลับ หรืองีบหลับ เป็นอาการที่คุ้ยเคยกันดีว่า “ผีอำ” ซึ่งได้ยินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ผีอำ (Sleep Paralysis) ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความว่า ผีอำ คือ “อาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนปลุกปล้ำ หรือยึดคร่าให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น อาการผีอำ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น แต่เป็นกันทั่วโลก ถึงขนาดที่มีรายการเกี่ยวกับประสบการณ์การโดนผีอำ “Aproject on sleep paralysis” และ “The nightmare”
1. อาการผีอำ คืออะไร ?
ผีอำ (Sleep Paralysis) เป็นความเชื่อของคนมาตั้งแต่โบราณ เอลเดอร์เชื่อว่าผู้สูงวัยหลายท่านคงรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้นที่มีความเชื่อ แต่ต่างชาติก็มีเชื่อและเกิดอาการเหล่านี้เช่นกัน แต่มักจะมองตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาการดังกล่าวคือภาวะ Sleep Paralysis เป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ จะเกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือพูดได้ชั่วขณะ รวมทั้งอาจเกิดอาการเหมือนถูกกดหรือสำลักบางอย่าง
2. ไขข้อข้องใจ “ผีอำ” เกิดจากผี จริงหรือไม่ ?
“ผีอำ” ไม่ได้เกิดจากการถูกผีอำจริง ๆ อาการดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือจิตใจ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีสาเหตุของการเกิดอาการผีอำมักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนน้อย นอนไม่หลับ เวลานอนที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านอนหงายหรือเป็นโรคลมหลับ
นอกจากนี้ยังสามารถเกิดได้จากอาการตะคริวในเวลานอน มีภาวะทางจิต เช่น มีอาการเครียด และเกิดจากการใช้ยาบางชนิดหรือสารเสพติด อาการและสาเหตุที่กล่าวมาทำให้เกิดอาการผีอำได้ทั้งสิ้น
3. อาการของผีอำ เกิดได้ช่วงไหน ?
อาการผีอำ มักเกิดขึ้น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงใกล้หลับ และช่วงใกล้ตื่น ซึ่งอาการของผีอำมีลักษณะที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้
- ช่วงใกล้หลับ (Hypnagogic Sleep Paralysis / Predormital Sleep Paralysis) โดยทั่วไปแล้ว
ร่างกายจะเกิดการผ่อนคลายก่อนหลับ ซึ่งจะค่อย ๆ ไม่รู้สึกตัวไปเอง ส่งผลให้ไม่สามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยังรู้สึกตัวอยู่ หรือเริ่มรู้สึกตัวเมื่อร่างกายกำลังจะหลับ จะรับรู้ได้ว่าไม่สามารถขยับตัวหรือเปล่งเสียงออกมาได้
- ช่วงใกล้ตื่น (Hypnopompic Sleep Paralysis / Postdomital Sleep Paralysis) ร่างกายจะ
เปลี่ยนช่วงการนอนหลับจากช่วงหลับลึก (Non-Rapid Eye Movement: NREM) เข้าสู่ช่วงหลับตื้น (Rapid Eye Movement: REM) ซึ่งใช้เวลาประมาณ 90 นาที ร่างกายจะเริ่มเข้าช่วงหลับธรรมดาก่อน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของช่วงเวลานอนหลับทั้งหมด ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและกลับเป็นปกติ จากนั้นจะเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงหลับฝัน โดยดวงตาจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและฝันถึงสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่ร่างกายยังคงผ่อนคลาย ช่วงหลับฝันเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อในร่างกายหยุดทำงาน ผู้ที่รู้สึกตัวในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุดลง จะรับรู้ได้ว่าไม่สามารถขยับร่างกายหรือเปล่งเสียงพูดออกมาได้
4. สาเหตุของการเกิดอาการผีอำ ?
- นอนไม่พอ ซึ่งเกิดจากการนอนน้อย หรือนอนไม่หลับ
- เวลาการนอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เปลี่ยนกะทำงาน หรือประสบภาวะ Jet Lag
- ประสบปัญหาสุขภาพจิตบางอย่าง เช่น เกิดความเครียด หรือป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- นอนหลับในท่านอนหงาย
- ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับนอนหลับ เช่น โรคลมหลับ หรือเกิดตะคริวที่ขาเวลาหลับตอนกลางคืน
- ใช้ยารักษาโรคบางอย่าง เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น
- ใช้สารเสพติด
5. การรักษาผีอำ ?
สำหรับผู้ที่เกิดอาการผีอำ หรือมีพบอาการเหล่านี้บ่อยครั้ง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาหารดังกล่าว เพื่อลดปัญหาสุขภาพ หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา
- เสริมสร้างสุขลักษณะการนอนหลับ แพทย์จะใช้วิธีที่ช่วยเสริมสร้างสุขลักษณะในการนอนของผู้ป่วย เช่น ใช้วิธีที่ช่วยสร้างนิสัยให้ผู้ป่วยนอนหลับวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ใช้ยารักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเศร้าให้ผู้ป่วย เพื่อช่วยจัดเวลาให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ตามปกติ
- รักษาปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างส่งผลให้เกิดภาวะผีอำ ผู้สูงวัยที่ประสบภาวะผีอำอันเนื่องมาจากปัจจัยดังกล่าวจึงควรเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น
- รักษาปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนหลับ ผู้สูงวัยที่ประสบภาวะผีอำบางราย อาจมีปัจจัยมาจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการนอนหลับบางอย่าง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาให้หาย
6. วิธีป้องกันอาการ “ผีอำ”
สำหรับผู้สูงวัยท่านใดที่มีอาการผีอำ หรืออยากป้องกันอาการผีอำไม่ให้เกิดขึ้น สามารถทำได้ด้วยกาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอน และการใช้ชีวิต ดังนี้
- นอนหลับให้เพียงพอ
- นอนให้ตรงเวลา
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- หากมีอาการเหนื่อยให้รีบเข้านอน
- ผ่อนคลายตนเองก่อนเข้านอน เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ
- เปลี่ยนท่านอนให้นอนตะแคงหรือนอนคว่ำแทนการนอนหงาย
- ออกกำลังเป็นประจำแต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน
- จัดห้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและใช้ที่ปิดตา หรือผ้าม่านทึบเพื่อป้องกันแสงสว่างจากภายนอกรบกวนเวลานอน
ผีอำ ไม่ได้เกิดจากการที่มีผีอำจริง ๆ แต่เกิดจากปัญหาในการนอน ที่เรียกว่าภาวะ Sleep Paralysis ร่างกายไม่สามารถขยับร่างกายได้ มักเกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือพูดได้ชั่วขณะ ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนน้อย นอนไม่หลับ เวลานอนที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านอนหงายหรือเป็นโรคลมหลับ รวมถึงผู้สูงวัยที่มีอาการเครียด และการใช้ยาบางชนิดหรือสารเสพติด เอลเดอร์หวังว่าความรู้ที่นำมาฝากกันจะช่วยให้ผู้สูงได้ได้เข้าใจและรู้แนวทางในการดูแลตนเองในเบื้องต้น
ที่มาข้อมูล
–
–
–
–
– https://cle.clinic/3t6u6WM