ในปัจจุบันนี้หากกล่าวถึงคำว่า โรคโควิด 19 คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า โรคนี้กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยแนะนำให้มีการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมอย่างเร่งรัด นอกเหนือจากปัญหาทางหลักทางด้านสาธารณสุขแล้ว โรคโควิด 19 กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักในด้านเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งผลกระทบในทุกๆด้านที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในประจำวันนี้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตในวิถีแบบใหม่ที่เรียกกันว่า “New normal” หรือการใช้ชีวิตในรูปแบบปกติใหม่นั่นเอง แล้วโรคโควิด 19 คืออะไร ทำไมถึงได้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตมากถึงขนาดทั่วโลกต้องมีมาตรการณ์จำเพาะเพื่อป้องกันและคัดกรองผู้ป่วยโรคนี้ วันนี้เอลเดอร์จะพามาทำความรู้จักกับโรคโควิด 19 ให้มากขึ้นนะครับ
โรคโควิดคืออะไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน ?
หลายๆท่านคงจะจำได้ถึงข่าวโรคระบาดชนิดใหม่ในช่วงเดือนธันวาคม 2019 ซึ่งมีรายงานว่า พบผู้ป่วยรายแรกของโลกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลจากการวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยรายนี้ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสตระกูลสายพันธุ์โคโรนา โดยไวรัสสายพันธุ์โคโรนานี้ ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1960 มีรายงานการค้นพบแล้วจำนวน 6 สายพันธุ์ โดยสองในหกสายพันธุ์ได้ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจระบาดไปทั่วโลก ได้แก่ โรคซาร์ส หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) ระบาดในช่วงปี 2002 และโรคเมอร์ส หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) ระบาดในช่วงปี 2012 และในปี 2019 ได้ค้นพบโรคระบบทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ 7 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด-ไนน์ทีน” (Covid-19) ซึ่งสรุปได้ว่า ไวรัสสายพันธุ์โคโรนา ที่มีรายงานการก่อโรคในมนุษย์ในขณะนี้ มีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่
ชนิดที่ 1-4: โรคหวัดธรรมดา
ชนิดที่ 5: โรค SARS (ซาร์) ระบาดในช่วงปี 2002
ชนิดที่ 6: โรค MERS (เมอร์ส) ระบาดในช่วงปี 2012
ชนิดที่ 7: โรค COVID-19 (โควิด-19) จากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบัน
หลังจากผู้ป่วยรายแรกถูกค้นพบในเดือน ธ.ค. 2019 ทางการจีนได้มีมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโดยประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นในปลายเดือน ม.ค. 2020 เนื่องจากโรคโควิด 19 สามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านละอองเสมหะ ไอ จาม น้ำลาย ทำให้โรคโควิด 19 มีการระบาดรวดเร็วและกระจายไปทั่วโลก ในประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อกลางเดือน ม.ค. 2020 เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย หลังจากนั้นมีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อคนไทยรายแรกที่มีประวัติเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ และหลังจากนั้นประเทศไทยก็พบผู้ป่วยรายแรกที่ไม่เคยมีประวัติเดินทางออกนอกประเทศมาก่อน ซึ่งระยะของการระบาดของโรคโควิด 19 ได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ๆดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นการระบาดมาจากต้นตอของการระบาดครั้งแรก โดยคนที่ติดเชื้อมาจากแหล่งหรือต้นตอของการระบาด เช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศจีน เป็นต้น โดยมีการระบาดในบริเวณแคบหรือจำกัด
ระยะที่ 2 เป็นการระบาดจากคนสู่คน โดยทราบต้นตอ หรือแหล่งที่มาที่แน่ชัด สามารถติดตามได้ว่าเป็นใคร ติดจากใครอย่างชัดเจน การแพร่ระบาดในระยะนี้จะเป็นการระบาดในบริเวณจำกัด
ระยะที่ 3 เป็นการระบาดเป็นวงกว้าง ไม่สามารถติดตามต้นตอ หรือแหล่งที่มาอย่างชัดเจนได้ มีการระบาดเป็นวงกว้างในชุมชนและระบาดอย่างต่อเนื่อง
คำถามต่อไปคือโรคโควิด 19 เกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุจากอะไร ทำไมไวรัสชนิดนี้ถึงได้มีความรุนแรงมาก ดังที่เอลเดอร์ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้มาบ้างแล้วนะครับว่า โควิด 19 เกิดจากเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แล้วไวรัสชนิดนี้มันคืออะไร ทำไมถึงก่อให้เกิดโรคได้เรามาทำความรู้จักกันต่อเลยนะครับ
เรามาเริ่มจากลักษณะของไวรัสชนิดโคโรนากันก่อนนะครับ เนื่องจากไวรัสมีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถสแกนภาพได้จากกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน ภาพถ่ายโคโรนาไวรัสจากผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกา จากห้องปฏิบัติการของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา พบว่าลักษณะรูปร่างของไวรัสมีลักษณะเป็นทรงกลม มีหนามแหลมโดยรอบคล้ายมงกุฎบนพื้นผิวจึงเป็นที่มาของชื่อโคโรนา ซึ่งมาจากภาษาละตินแปลว่ามงกุฏ
ไวรัสเข้าสู่ร่างกายของเราได้อย่างไร ? แล้วหลังจากเข้าสู่ร่างกายแล้วไวรัสทำให้เกิดโรคได้อย่างไร ?
มีหลักฐานจากการถอดรหัสทางพันธุกรรมพบว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด SARS-CoV-2 มีต้นกำเนิดมาจาก”ค้างคาวมงกุฎเทาแดง” ผ่านสัตว์ที่เป็นตัวกลางนำเชื้อมาสู่คนคือ “ลิ่นจีน” หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Manis pentadactyla เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งจำพวกลิ่น เมื่อคนได้สัมผัสกับสัตว์ตัวกลางที่เป็นพาหะ ทำให้ติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ตัวกลางที่เป็นพาหะนั้นเข้าสู่ร่างกาย หลังจากที่เราได้รับเชื้อไวรัสจากสัตว์ตัวกลางนำเชื้อแล้ว ไวรัสเข้าไปทำอะไรในร่างกายของเราจนก่อให้เกิดโรค? โดยปกติแล้วในร่างกายเรามีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเพื่อกำจัดเชื้อโรคต่างๆไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ได้แก่
เยื่อเมือกหรือสารคัดหลั่งของร่างกาย ที่สามารถดักจับเชื้อโรคหรือไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ ถ้าหากไวรัสหรือเชื้อโรคที่ผ่านด่านนี้ไปก็จะต้องไปเจอกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด่านต่อไป ซึ่งได้แก่เม็ดเลือดขาวที่คอยต่อสู้และดักจับเชื้อโรคแต่เป็นการดักจับแบบไม่จำเพาะเจาะจง ทำให้เชื้อโรคหรือไวรัสบางตัวสามารถเข้ามาประชิดที่ผนังเซลล์ของเราได้ แต่ในระยะนี้ก็จะมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบเฉพาะเจาะจงได้แก่บีลิมพ์โฟไซต์และทีลิมพ์โฟไซต์ซึ่งจะสร้างแอนติบอดีเพื่อมากำจัดไวรัสแบบจำเพาะเจาะจง แต่เนื่องจากไวรัสโควิด 19 เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่ร่างกายเรายังไม่รู้จัก ดังนั้นการที่ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีแบบจำเพาะมาเพื่อทำลายจึงต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 5-7 วัน ดังนั้นในช่วงเวลานี้ทำให้ไวรัสสามารถที่จะเจาะเข้าไปในผนังเซลล์ของเราได้
โดยมีรายงานว่าไวรัสชนิดนี้เข้าผนังเซลล์ของเราโดยอาศัยโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่า “ACE-2” ที่พบได้มากในเยื่อบุทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ โดยอาศัยการจับกันแบบจำเพาะระหว่างไวรัสกับโปรตีน ACE-2 ที่อยู่บนผนังเซลล์ เอลเดอร์ขออธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติมสักนิดนะครับ ให้เราเปรียบไวรัสโควิดเป็นเหมือนกุญแจ โดยหนามแหลมๆของไวรัสคือกุญแจ ส่วนร่างกายของเราเปรียบเสมือนบ้าน และโปรตีน ACE-2 คือประตูบ้าน ไวรัสจะใช้หนามแหลมๆของมันมาไขประตูบ้านของเราผ่านช่อง ACE-2 เพื่อเข้าสู่ตัวบ้านหรือเซลล์ของเรานั่นเองครับ
แล้วสถานการณ์ของโรคโควิดในปัจจุบันเป็นอย่างไร จากสถิติรายงานจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกพบว่าในปัจจุบันแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดผู้ป่วยสะสม ณ เดือนตุลาคม 2020 มีจำนวนมากถึง 42 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 1 ล้านรายทั่วโลก โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก 3 อันดับได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ในไทยมีรายงานยอดผู้ป่วยสะสม 3,700 ราย เสียชีวิต 59 ราย จากสถิติที่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลกนี้ ทำให้ในหลายๆประเทศพยายามที่จะหาวิธี หรือมาตรการป้องกันต่างๆ เช่น ให้ประชาชนสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เว้นระยะห่าง ล้างมือให้สะอาด รวมถึงการพัฒนาและคิดค้นวัคซีนในหลายๆประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีรายงานจากเว็บไซต์ ClinicalTrails.gov ของหน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐฯ ระบุว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ของไทยที่ทดสอบและพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula VRC) อยู่ในระหว่างการเตรียมทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 แล้ว รวมถึงการพัฒนาวัคซีนจากทั่วโลกที่กำลังทดสอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในปี 2021
ข้อมูลอ้างอิง
1). Cui et al., Origin and evolution of pathogenic coronaviruses, Nature Reviews Microbiology; volume 17 March 2019, 181-192
2). คู่มือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
3). Galanopoulos et al., COVID-19 pandemic : Pathophysiology and manisfestations from the gastrointestinal tract., World J Gastroenterol 2020 August 21; 26(31): 4567-4728
4).
5).
6). กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
7). ศูนย์ข้อมูลการวิจัย Digital วช
8). https://bbc.in/35tozgA
9). Cascella et al., Features, Evaluation, and Treatment of Coronavirus (Covid-19), NCBI Bookshelf. A service of National Library of Medicine, National Institutes of Health, StatPerls Publishing Jan 2020
10). นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ, กลไกการเกิดโรคโควิด 19 และวิธีการตรวจในห้องแลป