นับตั้งแต่โควิด 19 ระบาดในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตเราก็เปลี่ยนไป ต้องระวังตัวมากขึ้นเมื่อออกจากบ้าน และเวลาผ่านไป ไวรัสโคโรนา ได้กลายพันธุ์ ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเพิ่มมากขึ้น หากร่างกายแข็งแรงแม้ติดเชื้อเราก็สามารถหายป่วยได้ แล้วเราจะมีวิธีการเตรียมพร้อมร่างกายเราอย่างไรเพื่อให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีเตรียมพร้อมต่อการรับมือกับโรคภัยต่างๆ รวมทั้งโรคโควิด 19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ การรับประทานอาหารที่ส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยงหรือความรุนแรงจากเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้เช่นกันครับ แล้วมีอาหารอะไรบ้างที่จะช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันได้ดี วันนี้เอลเดอร์มีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ อาหารที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมาฝากดังนี้ครับ
วิตามินอะไรบ้างที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน?
1. วิตามินซี เป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ แหล่งวิตามินซีที่พบในอาหารส่วนใหญ่จะอยู่ในผักและผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว และ ผักสีเขียว การขาดวิตามิน ซีเป็นสาเหตุของเลือดออกตามไรฟัน คือโรคลักปิดลักเปิด นอกจากนี้ประโยชน์ของวิตามินซียังมีส่วนช่วยการเพิ่มการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-Lymphocyte ที่กำจัดเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัส และช่วยเพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ในการกลืน ทำลาย หรือกำจัดเชื้อโรคในเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง และยังช่วยเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิด Natural Killer Cell เพื่อจู่โจมกับเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น เซลล์มะเร็งชนิดต่างๆอีกด้วยครับ
ควรได้รับวิตามินซีเท่าไหร่ต่อวัน?
มีรายงานอ้างอิงข้อกำหนดปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย ได้กำหนดไว้ดังนี้ครับ ในเด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับ 25-40 มิลลิกรัมต่อวัน ในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับ 60-100 มิลลิกรัมต่อวัน และวัยผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 85-100 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากต้องการรับประทานเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันควรบริโภคในปริมาณ 500 -1,000 มิลลิกรัม/วัน ครับ
มีผักผลไม้อะไรบ้างที่ให้วิตามินซีสูง?
วันนี้เอลเดอร์มีตัวอย่างตารางแสดงปริมาณผักและผลไม้ที่บริโภคกับปริมาณวิตามินซีที่ควรจะได้รับต่อการบริโภค อ้างอิงจากนิตยสารวาไรตี้เพื่อสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลาามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้ครับ
ผลไม้ (100 กรัม) | วิตามินซี (มิลลิกรัม) | ผักดิบ(100 กรัม) | วิตามินซี (มิลลิกรัม) |
ฝรั่ง | 151-187 | พริกหวาน | 183.5-190 |
มะขามป้อม | 111 | ผักคะน้า | 120 |
มะขามเทศ | 97 | มะระขี้นก | 116 |
เงาะโรงเรียน ลูกพลับ | 73-76 | บรอกโคลี | 93.2 |
สตรอว์เบอร์รี่ | 66 | ผักกาดเขียว | 45 |
มะละกอแขกดำ | 62 | ดอกกะหล่ำ | 46.4 |
ส้มโอ ส้มเช้ง | 46-48 | ถั่วลันเตา | 40 |
พุทรา | 44-47 | ผักโขม | 28.1 |
ทุเรียนหมอนทอง | 35 | มันฝรั่ง | 19.7 |
ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มเขียวหวาน | 20-30 | มะเขือเทศ | 16 |
กล้วยหอม | 27 | ผักพื้นบ้าน | |
มะม่วงเขียวเสวยสุก | 25 | ยอดสะเดา/ ใบปอ | |
มะยงชิด ละมุดสีดา | 25 | ผักหวาน |
อย่าลืมว่าวิตามินซี เป็นวิตามินที่สูญเสียได้ง่ายเมื่อโดนน้ำและความร้อน ดังนั้นหากเราต้องการคงคุณค่าของวิตามินซีไว้ ควรปรุงอาหารโดยผ่านความร้อนน้อยที่สุด อาจจะผัดหรือนึ่งโดยใช้เวลาสั้นๆ จะช่วยลดความสูญเสียของวิตามินซีได้ครับ
2. วิตามินเอ เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน พบได้ในตับ น้ำมันตับปลา ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม นอกจากนี้ ยังพบได้ในผักใบเขียวและผักสีเหลืองและสีส้มที่มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ เช่น บร็อคโคลี่ ฟักทอง และแครอท
ประโยชน์ของวิตามินเอมีอะไรบ้าง?
ดังที่เราทราบกันโดยทั่วไปว่า วิตามินเอมีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นโดยเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ดูดซับแสงในตัวรับของจอประสาทตา สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ และช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดเยื่อบุเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร เป็นต้น
นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น วิตามินเอยังมีบทบาทช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเป็นวิตามินที่มีฤทธิ์ต่อต้านการติดเชื้อ “the anti-infective vitamin” โดยวิตามินเอมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในส่วนของการควบคุมการตอบสนองของเซลล์บี (B-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ
ควรได้รับวิตามินเอเท่าไหร่ต่อวัน?
ปริมาณวิตามินเอที่ร่างกายควรได้รับต่อวันตามแต่ละช่วงอายุ มีดังนี้ครับ
ทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรได้รับวิตามินเอจากน้ำนมแม่เป็นหลัก ทารกอายุ 6 เดือน-3 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 400 ไมโครกรัมต่อวัน เด็กอายุ 4-5 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 450 ไมโครกรัมต่อวัน เด็กอายุ 6-8 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 500 ไมโครกรัมต่อวัน ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเอ 600 ไมโครกรัมต่อวัน ผู้ชายอายุ 9-15 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 600 ไมโครกรัมต่อวัน ส่วนชายที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปให้เพิ่มปริมาณเป็น 700 ไมโครกรัมต่อวัน
มีอาหารอะไรบ้างที่ให้วิตามินเอสูง?
ผัก/ผลไม้ (100 กรัม) | วิตามินเอ (IU) |
มันเทศ | 19,218 |
ตำลึง | 18,608 |
แครอท | 16,706 |
ผักกาดเขียวปลี | 15,376 |
ใบเหลียง | 10,889 |
ยอดชะอม | 10,066 |
ผักโขม | 9,377 |
ผักกาดหอม | 7,492 |
ฟักทอง | 7,384 |
ผักบุ้ง | 6,300 |
พริกหวานแดง | 3,131 |
3. วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้จากการรับรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากแสงแดด นอกจากนี้วิตามินดียังพบได้ในอาหารจำพวกปลา เนื้อสัตว์ นม และ ถั่ว
ประโยชน์ของวิตามินดีมีอะไรบ้าง?
วิตามินดีมีหน้าที่หลักในการช่วยดูดซึมแคลเซียม ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกบาง (Osteopenia) และกระดูกพรุน (Osteoporosis) นอกจากนี้วิตามินดียังมีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยมีการศึกษารายงานว่าพบตัวรับที่จับกับวิตามินดีหรือ Vitamin D Receptor บน T cell และ B cell หรือซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาคุกคามร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยรายงานว่าวิตามินดีมีคุณสมบัติในการช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอีกด้วยครับ
ควรได้รับวิตามินดีเท่าไหร่ต่อวัน?
ในเด็กทารกอายุ 0-12 เดือน ควรได้รับ 400 IU ต่อวัน ในช่วงอายุ 1-70 ปี ควรได้รับ 600 IUต่อวัน และวัยผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 800 400 IU ต่อวัน
มีอาหารอะไรบ้างที่ให้วิตามินดีสูง?
อาหาร (100 กรัม) | วิตามินเอ (IU) |
ปลาซาร์ดีน | 250 |
ปลาทูสุก | 350 |
ปลาทูน่ากระป๋อง | 150 |
กุ้ง | 150 |
เห็ดหอมแห้ง | 1,600 |
น้ำมันตับปลา 1 ช้อนโต๊ะ | 400-1,360 |
ตับวัว | 50 |
ไข่ต้ม 1 ฟอง | 40 |
โยเกิร์ต | 90 |
อย่างไรก็ตามการได้รับวิตามินดีที่มากเกินไปอาจส่งผลกระทบได้เช่นกันครับ หากได้รับวิตามินดีมากกว่า 4,000 IU ต่อวัน อาจทำให้แคลเซียมในเลือดสูง และเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เกิดปฏิกิริยาระหว่างยารักษาโรคบางชนิดอีกด้วย ดังนั้นควรรับประทานในปริมาณที่พอดีและเหมาะสมจะดีที่สุดครับ
4. สังกะสี สังกะสี จัดเป็นแร่ธาตุที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อยแต่จำเป็นสำหรับการทำงานของร่างกาย ไม่สามารถขาดได้ มีรายงานการศึกษาพบว่าสังกะสีเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 200 ชนิด ทำหน้าที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งรวมถึงส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ประโยชน์ของสังกะสีมีอะไรบ้าง?
สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการสังเคราะห์ DNA หรือโปรตีน การซ่อมแซมบาดแผล การเผาผลาญ การพัฒนาและการเจริญเติบโตของเซลล์ หรือแม้แต่การรับรสและกลิ่น
นอกจากนี้ยังพบว่าสังกะสีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นกลไกหลักในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จากรายงานการศึกษาพบว่าแร่ธาตุสังกะสีช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะเรื่องของการเพิ่มจำนวนและประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวชนิดที-เซลล์ (T-Cell) สำหรับการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายอีกด้วยครับ
ควรได้รับสังกะสีเท่าไหร่ต่อวัน?
โดยปกติแล้วเราจะได้รับสังกะสีผ่านทางการรับประทานอาหารในแต่ละวัน สำหรับปริมาณสังกะสีที่เหมาะสมของแต่ละเพศและช่วงวัยได้แก่ ทารกอายุไม่เกิน 2 ปี ควรได้รับวันละ 2-3 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ควรได้รับวันละ 4 มิลลิกรัม เด็กอายุ 9-12 ปี ควรได้รับวันละ 5 มิลลิกรัม เด็กอายุ 13-15 ปี หากเป็นเพศชายควรได้รับวันละ 8 มิลลิกรัม และเพศหญิงควรได้รับวันละ 7 มิลลิกรัม เด็กอายุ 16-18 ปี หากเป็นเพศชายควรได้รับวันละ 9 มิลลิกรัม และเพศหญิงควรได้รับวันละ 7 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่เพศหญิง ควรได้รับวันละ 12 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่เพศชาย ควรได้รับวันละ 15 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามปริมาณสูงสุดที่ร่างกายควรได้รับต้องไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อวันนะครับ
มีอาหารอะไรบ้างที่ให้แร่ธาตุสังกะสีสูง?
อาหาร(100 กรัม) | สังกะสี (มิลลิกรัม) |
หอยนางรม | 75 |
ตับ | 12 |
เมล็ดแตงโม | 10 |
จมูกข้าว | 12-17 |
เนื้อสัตว์ | 4-10 |
เมล็ดฟักทอง | 7-10 |
เมล็ดงา | 7.75 |
เห็ด | 7.66 |
มะม่วงหิมพานต์ | 5.35 |
ช็อกโกแลตหรือโกโก้ | 9.6 |
ถั่วลิสง | 6.6 |
ไข่แดง | 4.93 |
จากตัวอย่างอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่เอลเดอร์ได้นำมาฝากดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น จะเห็นว่าเป็นอาหารที่หาทานได้ง่ายในชีวิตประจำวันใช่ไหมครับ เพียงรับประทานอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอและเหมาะสม เท่านี้เราก็สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายของเราเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ไม่ให้เข้ามาก่อโรคได้ง่ายๆครับ ที่สำคัญเนื่องจากสภาวะร่างกายของเราไม่เหมือนกัน บางท่านมีโรคประจำตัวและควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด ดังนั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายเราด้วยนะครับ
อ้างอิงจาก
- https://www.medicinenet.com/covid_19_supplements/article.htm
- https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue037/healthy-eating
- https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2021/07/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%8B%E0%B8%B5.pdf
- https://www.scimath.org/article-biology/item/11476-vitamin
- https://www.pobpad.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD