ภาวะไขมันในเลือดสูง หรือไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) คือ ระดับไขมันในเลือดที่มีคอเลสเตอรอล มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไตรกรีเซอไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับ HDL-cholesterol (HDL-C) หรือไขมันดี น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับ LDL-cholesterol (LDL-C) หรือไขมันเลวมากกว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
โรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ ได้แก่ 1. ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คนที่ร่างกายเผาผลาญทำลายไขมันได้น้อย 2. การรับประทานอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ 3. การใช้ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด โรคเบาหวาน และ 4. การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในปริมาณมากและเป็นประจำ
หากเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงจะเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นเอลเดอร์อยากให้ข้อมูลว่า โดยธรรมชาติร่างกายของมนุษย์นั้นมีไขมันอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1. คอเลสเตอรอล ที่ได้จากร่ายกายสังเคราะห์ขึ้นเองและได้รับจากอาหารที่รับประทาน จะพบมากในไขมันสัตว์ ปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร คอเลสเตอรอล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด
- High-Density Lipoprotein (HDL) เป็นไขมันชนิดดี จะทำหน้าที่จับไขมันคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีออกไปทำลายที่ตับ
- Low-Density Lipoprotein (LDL) เป็นไขมันชนิดไม่ดี ที่มาจากไขมันสัตว์ ไขมันชนิดนี้มักจะไปเกาะผนังหลอดเลือดเมื่อมีปริมาณสูง ทำให้หลอดเลือดแคบลง ประสิทธิภาพในการการไหลเวียนของเลือดลดลง สูญเสียความยืดหยุ่นของหลอดเลือด

2. ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากอาหารที่ทานเข้าไป เช่น น้ำตาล และแป้ง แต่ก็ยังมีความสำคัญทางด้านโภชนาการ ทั้งช่วยให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค แต่อย่างไรก็ตามการมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หรือพบว่ามีไขมันในเลือดสูงจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น
ไขมันทั้ง 2 ประเภทนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เมื่อไหร่ที่ร่างกายได้รับไขมันนี้ในปริมาณที่มากเกินไป ไขมันจะไปเกาะตามผนังด้านในของหลอดเลือด ก่อให้เกิดอันตรายเมื่อไขมันสูงมากมีผลทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดอาการปวดเมื่อยที่น่องบีบรัดในหลอดเลือด ร้ายแรงที่สุดอาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ เกิดภาวะเฉียบพลัน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ ดังนั้นเราจึงควรรักษาระดับไขมันในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ คือ ค่าคอเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มก./ดล. ไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 170 มก./ดล. ไขมันชนิดดี (HDL) ควรมีค่ามากกว่า 60 มก./ดล. ส่วนไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ควรน้อยกว่า 130 มก./ดล.
ถึงแม้เราจะพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราเลือกรับประทานเครื่องดื่มที่มีประโยชน์เพื่อเป็นตัวช่วยลดภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง วันนี้เอลเดอร์ขอเสนอสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยในการลดไขมันได้จริงมาให้ได้ทราบกัน เพื่อเลือกรับประทานดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ห่างไกลจากภาวะไขมันในเลือดสูง
สมุนไพร 5 ชนิด ช่วยลดไขมันในเลือด
1. กระเจี๊ยบแดง มีสารแอนโทไซยานิน และวิตามินซี ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ยังช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และลดคอเลสเตอรอล อีกทั้งยังมีผลช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) นอกจากนั้นยังช่วยแก้เส้นเลือดตีบตัน ช่วยให้เส้นเลือดแข็งแรงและยืดหยุ่นได้ดี โดยเห็นผลเมื่อดื่มชาชงกระเจี๊ยบวันละ 2 เวลา เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือน
2. กะเพรา มีฤทธิ์ในการลดปริมาณไขมันในเลือด โดยจะช่วยลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และยังช่วยเพิ่มปริมาณไขมันดี (HDL) ในเลือดได้อีกด้วย การรับประทานผงใบกะเพราแห้งในปริมาณ 2.5-3 กรัม วันละ 1 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า ยังสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ หรือให้รับประทานในปริมาณ 6 กรัม วันละ 2 ครั้ง ก่อนและหลังอาหารเช้า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงและลดไขมันในเลือดสูง และสามารถลดน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในผู้ป่วยกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ได้
3. กระเทียม สามารถลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ดี เมื่อรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานานตั้งแต่ 1 เดือนเป็นต้นไป โดยควรรับประทานครั้งละ 600-900 มิลลิกรัมต่อวัน (ในรูปแบบผงแห้ง) ในกรณีอยากจะรับประทานแบบกระเทียมสด ก็สามารถทานได้โดยรับประทานวันละ 1-2 หัว เพื่อจะได้ฤทธิ์ในการลดคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์

4. ขิง การรับประทานขิงแคปซูลวันละ 3 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 เวลา เป็นเวลา 45 วัน สามารถลดระดับไขมันโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ นอกจากนี้ขิงยังมีป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดได้อีกด้วย
5. ตรีผลา เป็นตำรับสมุนไพรที่ประกอบขึ้นด้วยผลไม้สามอย่างคือ สมอไทย สมอพิเภกและมะขามป้อม มีสรรพคุณลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยอาจทานต่อเนื่องอย่างน้อยคืนละ 1 แก้ว ต่อเนื่องทุกคืน นอกจากจะลดไขมันในเลือดได้แล้ว ตรีผลายังมีส่วนช่วยในการรักษาภาวะไขมันพอกตับอีกด้วย
ข้อควรระวัง เราควรรับประทานสมุนไพรในปริมาณที่กำหนดไว้ต่อวันอย่างเหมาะสม ไม่ควรรับประทานเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจากเดิมที่สมุนไพรต่างๆ มีสรรพคุณในการช่วยลดไขมันในเลือด อาจก่อให้เกิดผลเสียเมื่อรับประทานในปริมาณที่มากเกินพอดี
เอกสารอ้างอิง
1. สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : 6 สมุนไพรลดไขมันในเลือด
2. 4 เครื่องดื่มสมุนไพร ลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด
3. 15 สมุนไพร ลดไขมันในเส้นเลือดทานแล้วดีต่อร่างกาย
4. สมุนไพรใกล้ตัวที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้
5. ลดไขมันในเลือดด้วย “กระเทียม” ต้องกินนานแค่ไหน? ปริมาณเท่าไหร่? ถึงจะได้ผล
6. ไขมันในเลือดสูง..ตัวการร้ายนำสู่สารพัดโรค
7. กะเพรา พืชสมุนไพรใกล้ตัว