ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุก็มีเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการทำงานของหัวใจลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่างที่เราจะได้เห็นออกข่าวกันบ่อย ๆ นะครับ ว่ามีการเสียชีวิตฉับพลันขณะออกกำลังกาย ซึ่งถ้าโชคดีช่วยเหลือได้ทันภายใน 1 ชั่วโมง ก็มีโอกาสมากที่จะรอดสูงขึ้น วันนี้เอลเดอร์จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ถ้าพร้อมที่จะดูแลตัวเองแล้ว ตามมาดูกันเลย

รู้จักโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ ภาวะอาการที่ตรงตัวกับชื่อของมันนั่นแหละครับ กล่าวคือ ภาวะที่หัวใจขาดเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงหัวใจเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจถูกปิดกั้นจากคราบพลัค (Plaque) จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสภาพและตายลง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

สาเหตุอาจจะมาจากพันธุกรรม แต่โดยมากจะเกิดจากภายในกล้ามเนื้อหัวใจมีเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงอยู่ เช่นเดียวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ในส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดการขาดเลือดนั้น จะมาจากการที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดภาวะแข็งตัว จากการสะสมของสารต่าง ๆ ที่มาเกาะบนผนังด้านในของหลอดเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไขมันนั่นเองครับ ทำให้ผนังหลอดเลือดหนา ตีบแคบหรืออุดตัน อีกทั้ง ยังทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง นั่นส่งผลให้เลือดที่จะไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำได้น้อยลง จึงเกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และยังทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ด้วยครับ และนี่จึงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยไม่ทันรู้ตัว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดหัวใจตีบได้อีก เช่น โรคประจำตัวต่าง ๆ อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งยังรวมไปถึงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีไขมันสูง เค็มจัด

อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคที่ควรสังเกตไว้นะครับ จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนโดนเหยียบ ถ้ายังนึกไม่ออก เอลเดอร์ขออธิบายเพิ่มดังนี้
1. อาการคล้ายเวลาเราเป็นตะคริว มีความรู้สึกแน่นหน้าอก จะเจ็บแบบจุกแน่น เหมือนมีอะไรมาบีบรัด หรือมีของหนักมาทับที่หน้าอก
2. มักจะมีอาการเจ็บร้าวไปที่ไหล่ซ้าย แขนซ้าย
3. มีอาการอื่น ๆ เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น หน้าซีด คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ ใจสั่น
4. บางคนอาจมีอาการจุกใต้ลิ้นปี่ คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นแบบกะทันหันในขณะที่กำลังใช้ชีวิตประจำวันปกติ ซึ่งบางคนเมื่อมีอาการเจ็บแล้วอาจจะหายไปเองได้ เมื่อหยุดทำกิจกรรมที่ให้หัวใจทำงานหนัก เช่น การวิ่ง การออกกำลังกายหนัก ๆ หรือการใช้แรงยกของหนัก แต่บางรายาจมีอาการเจ็บแม้ขณะที่กำลังพัก ซึ่งสามารถกินเวลานานกว่า 20 นาที และอาการเจ็บจะเกิดขึ้นใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม โดยในบางรายอาจจะเป็นหลอดเลือดตีบมาก่อนแล้วสัก 50% แต่ยังไม่แสดงอาการ พอวันดีคืนดีเกิดแจ็กพ็อตขึ้นมาครับ อาการก็ปรากฏแบบไม่ทันให้ตั้งตัว ทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตัน เลือดจึงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย จึงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีอาการเจ็บที่รุนแรง นั่นจะทำให้เกิดภาวะช็อคและหัวใจวายได้

ควรทำอย่างไรเมื่อมีอาการ

1. หยุดทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่
2. แจ้งญาติหรือคนใกล้ชิดให้ช่วยพาส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากอยู่คนเดียว โทร.สายด่วนฉุกเฉิน  1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อเกิดอาการ การทำ CPR ช่วยได้จริงหรือ? 

การทำ CPR ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสามารถช่วยได้ครับ แต่อยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก เนื่องจากกลไกของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดต้องอาศัยการรักษาที่ตัวหลอดเลือดเป็นหลัก
**ข้อควรระวังในการทำ CPR ผู้ทำจะต้องใช้สองมือซ้อนกันบนกระดูกหน้าอก จากนั้นใช้มือประสานกัน เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วมือกดกระดุกซี่โครงจนหัก เพราะหากทำไม่ถูกต้อง ก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ สำหรับการนวดหัวใจ ควรนวดหัวใจ 15 ครั้ง แล้วจึงเป่าปาก 2 ครั้ง**

หากพบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว คนรอบข้างจะช่วยอย่างไรได้บ้าง?

คนรอบข้างสามารถช่วยผู้ป่วยด้วยหลัก ABC ครับ คือ
A = Airway คือการเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง อย่างเช่น การเคลียร์พื้นที่ไม่ให้คนมามุง ปลดเสื้อผ้า ปลดเข็มขัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สบายที่สุด
B = Breathing คือเช็คดูว่าผู้ป่วยสามารถหายใจได้เองหรือไม่ แล้วจึงเป่าปากเพื่อช่วยให้หายใจ
C = Circulation คือการตรวจชีพจร หรือนวดหัวใจเพื่อให้เลือดเกิดการไหลเวียนอีกครั้ง จากนั้นให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตฉับพลัน มักไม่แสดงอาการมาก่อน นั่นหมายความว่าหากไม่ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที สามารถเสียชีวิตภายใน 1 ชั่วโมง 

การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา อย่างด่วนที่สุด เพื่อให้ทันท่วงที โดยแพทย์จะรักษาดังนี้
1. แพทย์จะฉีดมอร์ฟันเพื่อลดอาการเจ็บให้กับผู้ป่วย
2. จากนั้นจึงให้ออกซิเจนที่เพียงพอ
3. แล้วจึงให้ยาช่วยขยายเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ อาจจะมาในรูปแบบของยาพ่น หรือยาอมใต้ลิ้น
4. ให้ยาละลายลิ่มเลือด ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง หลังมีอาการ เพื่อให้เลือดที่แข็งตัวจากการ
อุดตันสามารถกลับมาไหลเวียนได้สะดวก
5. การรักษาที่ดีที่สุด โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำการสวนเส้นเลือดเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและตามด้วยการใส่ขดลวดค้ำยัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

การดูแลและป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรค

แม้ว่าปัจจัยการเกิดโรคนี้ส่วนหนึ่งจะมาจากพันธุกรรมก็ตาม แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งเราสามารถดูแลและป้องกันตัวเองได้ดังนี้
1. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เราสามารถรู้ตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับร่างกายของเรา ซึ่งในผู้สูงอายุบางคนมักจะละเลยเพราะคิดว่าไม่มีอาการแปลว่าไม่ได้เป็นอะไร ทำให้วันดีคืนดี เกิดอาการโรคหัวใจขึ้นมาเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิต
2. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยลดอาหารที่มีความหวาน มัน เค็ม มากเกินไป
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละ 30 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน แต่ไม่ควรหักโหมมากเกินไป
4. หลีกเลี่ยงหรือเลิกการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เนื่องจากในแอลกอฮอล์จะเป็นตัวไปทำให้เกิดความผิดปกติกับระดับเกลือแร่ในเลือด  เช่น ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ, ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น ส่วนการสูบบุหรี่ จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว
5. ไม่เครียด หมั่นทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบานอยู่เสมอ

  ทั้งหมดนี้คืออะไรที่เอลเดอร์นำมาฝากกันครับ เพราะทุกโรคสามารถป้องกันได้ ดังนั้นหากใครยังทำพฤติกรรมที่เสี่ยงเหล่านี้อยู่ ควรเริ่มต้นหันกลับมาดูแลสุขภาพหัวใจของตัวเองได้แล้วนะครับ อย่าชะล่าใจว่าไม่มีอาการอะไร เพราะนั่นอาจจะกลายเป็นมัจจุราชเงียบที่คร่าชีวิตของเราไปก็ได้

ข้อมูลอ้างอิง
https://bit.ly/3aH1wBH
https://bit.ly/3rlkV1q
https://bit.ly/3jmAEKY
http://bit.ly/3oTmVN5

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top