“เอาอะไรมาเลี้ยงอีกแล้ว เป็นภาระเปล่าๆ” คำคุ้นเคยที่ผู้สูงอายุหลายท่านมักบ่นขึ้น เมื่อเห็นลูกหลานนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาเลี้ยงในบ้าน แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนที่ต่อต้านในวันนั้น กลับตกเป็นทาสในวันนี้ เพราะอะไรกันล่ะ ทำไมสัตว์เลี้ยงถึงทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข?
อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่า ในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แน่นอนว่าการดูแลผู้สูงอายุนั้นไม่ใช่แค่เพียงแต่ดูแลภายนอกในเรื่องของสุขภาพทางกาย อาหารการกินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลภายในอย่างด้านจิตใจมาประกอบให้สมดุลกัน และหากมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีกำลังใจที่ดีก็ย่อมผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นไปได้ สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเยียวยาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุให้กลับมาเบิกบานอีกครั้ง นั่นก็คือ สัตว์เลี้ยง ก็ถือว่าเป็นผู้ช่วยที่ดีเชียวล่ะ
สัตว์เลี้ยงบำบัด (Animal – Assisted Therapy) คือการนำสัตว์มาช่วยเยียวยา บรรเทาอาการความเจ็บป่วย ทั้งความเจ็บป่วยทางกายและความเจ็บป่วยทางจิตใจ ในการรักษาทางกายนั้น อันที่จริงแล้วการใช้สัตว์บำบัดมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วครับ ที่มีการนำปลิงมาช่วยรักษาอาการเลือดแข็งตัวผิดปกติภายหลังการผ่าตัด หรือในประเทศตุรกีที่มีการทดลองนำปลาสไตรเกอร์และลิกเกอร์มาช่วยรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน โดยการปล่อยปลาลงไปในอ่างน้ำแร่กลางแจ้งในอุณหภูมิที่ถูกควบคุม และให้ปลาแทะในบริเวณที่เป็นผื่นคันของผู้ป่วยให้ค่อย ๆ หลุดออกไป ในบ้านเราก็มีเช่นกันครับ
สำหรับการรักษาด้านจิตใจ มีงานวิจัยในต่างประเทศมากมายเกี่ยวกับเรื่องสัตว์เลี้ยงบำบัด เช่น สุนัข แมว และปลาตู้ ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุและผู้ป่วยในทางที่ดี การนำสัตว์มาช่วยเยียวยา บรรเทาอาการให้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือมะเร็ง รวมถึงในเด็กออทิสติกและผู้สูงอายุ สองงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นตรงกันถึงเรื่องนี้คือ The Effects of Animal-Assisted Therapy on Loneliness in an Elderly Population in Long-Term Care Facilities ของ Marian R. Banks และ William A. Banks และอีกหนึ่งงานวิจัยเรื่อง The Benefit of Pets and Animal-Assisted Therapy to the Health of Older Individuals ของ E. Paul Cherniak และ Ariella R. Cherniack ผลการศึกษาบอกว่า สัตว์เลี้ยงมีอิทธิพลเชิงบวกในด้านของพฤติกรรมผู้เลี้ยงวัยสูงอายุ ช่วยบรรเทาอาการทางจิตเวชอย่าง โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรควิตกกังวล หรือแม้แต่ช่วยลดความเครียดที่ไปสัมพันธ์กับคนที่มีความโลหิตสูงส่งผลให้ความดันโลหิตที่ลดลง หรือแม้แต่มีความเจริญอาหารและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุบางคนมีอาการซึมเศร้า คิดมาก รู้สึกไร้ค่า หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระลูกหลาน แต่เมื่อได้ลองเลี้ยงและดูแลสัตว์ดูแล้ว จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้ทำอะไรเพื่อใครบ้าง รู้สึกตนเองมีคุณค่า สร้างความผูกพัน การได้ดูแลสัตว์เลี้ยงตัวน้อยถือเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับมาเป็นพ่อแม่อีกครั้ง นอกจากนี้ สัตว์เลี้ยงสามารถสร้างประสาทรับรู้ให้กับผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี นั่นแปลว่าสัตว์เลี้ยงสามารถได้ยินอะไรก่อน ก็จะทำให้ผู้สูงอายุระแวดระวังภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นได้นั่นเองครับ
สัตว์เลี้ยงตัวน้อยกับพลังในการเยียวยามหาศาล
1. สุนัข
การมีสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขเข้ามาจะช่วยลดความเครียดและความกังวล อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยสูงอายุอยากจะทำกิจกรรมที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายขึ้นมาได้ครับ เช่น การลูบขนสุนัข การขว้างลูกบอลเพื่อให้สุนัขคาบมาให้ การหยิบป้อนอาหารให้สุนัข หรือแม้แต่การพาสุนัขไปเดินเล่น ยังมีงานวิจัยรองรับว่าช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้ดีทีเดียวครับ นอกจากสุนัขได้ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุก็ได้ออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะช่วยในเรื่องของหลอดเลือดสมอง การไหลเวียนโลหิต รวมถึงไขข้อต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวผู้สูงอายุเองครับ
จากงานวิจัยของ Deborah L. Wells จาก Queen’s University ได้แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงช่วยสร้างการดึงดูดในการเข้าสังคมได้เป็นอย่างดีครับ โดยเขาได้ศึกษาพฤติกรรมจากคน 1,800 คน โดยสร้างเงื่อนไข 6 แบบ คือ คนกลุ่มหนึ่งมากับลูกสุนัขลาบราดอร์ กลุ่มหนึ่งมากับสุนัขลาบราดอร์โตเต็มวัย กลุ่มหนึ่งมากับสุนัขร็อตไวเลอร์โตเต็มวัย กลุ่มหนึ่งมากกับตุ๊กตา กลุ่มหนึ่งถือกระถางต้นไม้ และอีกกลุ่มมาตัวเปล่าพบว่ากลุ่มที่มาพร้อมสุนัขจะได้รับกว่าสนใจจากผู้คนมากกว่า และคนเหล่านั้นจะได้รับรอยยิ้มและคำทักทายพูดคุยมากกวาคนกลุ่มอื่นๆ
2. แมว
หากใครที่เป็นทาสแมว ที่คิดว่าเจ้านายไม่สนใจอะไรเลยนั้น คุณคิดผิดแล้วล่ะครับ เราก็มีงานวิจัยสนับสนุนเหมือนกัน ล้วนแล้วออกมายืนยันว่าการเลี้ยงแมวช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ และงานวิจัยในผุ้ป่วยจากโรงพยาบาลในอิตาลีได้ใช้แมวบำบัดผู้ป่วย โดยให้เล่นกับแมว 3 ชั่วโมง/สัปดาห์เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยมีระดับความดันที่ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการบำบัดด้วยแมว นอกจากนี้เคยสังเกตเสียง Purring ในลำคอของนายท่านเวลาฟินกันบ้างหรือเปล่า หลายคนที่แมวมานอนข้างๆ แล้วคิดว่าเป็นเสียงที่น่ารำคาญ หารู้ไม่ว่าเป็นเสียงสวรรค์เลยนะครับ เสียงนี้มีความถี่ 25 Hz-100 Hz ซึ่งพบว่าช่วยให้มนุษย์อย่างเราผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เหมาะมากหากผู้สูงอายุท่านใดมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ลองหยิบเจ้าเหมียวมาลองลูบ ๆ หรือนอนแล้ววางเจ้านายไว้บนตัวดูนะครับ คงจะฟินน่าดู
3. ปลาสวยงาม
บางคนอาจจะมองว่าการเลี้ยงปลาปลาสวยงามนั้นไม่ได้มีประโยชน์กับเรามากนัก นอกจากดูแลรักษายากแล้ว นำมาเล่นเหมือนสุนัขกับแมวก็ไม่ได้ แต่ความจริงแล้วการเลี้ยงปลาสวยงามก็มีผลต่อสุขภาพกายและจิตใจเราเหมือนกันนะครับ
จากงานวิจัยของ Edwards and Beck บทความเรื่อง Animal-assisted therapy and nutrition in Alzheimer’s disease ได้ทำการทดสอบการเลี้ยงปลาสามารถช่วยเพิ่มน้ำหนักหรือเพิ่มการเจริญอาหารให้กับผู้สูงอายุได้ โดยพวกเขาได้ทำการทดสอบกับผู้สูงอายุ 62 คนในสถานพยาบาลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เปรียบเทียบระหว่างติดตั้งตู้ปลาในห้องอาหารกับการติดรูปภาพปลาใต้ท้องทะเลที่ผนัง ผลการทดลองพบว่าผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารในห้องที่มีตู้ปลา 4 เดือนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.65 ปอนด์ ส่วนกลุ่มที่ห้องรับประทานอาหารมีเพียงรูปภาพนั้นไม่มีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้นปลาสวยงาม เช่น ปลาทอง ปลาคาร์ฟ ยังสามารถช่วยในเรื่องการผ่อนคลายความเครียดในผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้อีกด้วยนะครับ
การเลือกสัตว์เลี้ยงให้เหมาะกับผู้สูงอายุ
เราต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า ผู้สูงอายุอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายเสื่อมถอย เรี่ยวแรงก็น้อยลงตามกาลเวลา ดังนั้นหากคิดจะเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน ควรเลือกขนาดของตัวสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข ต้องไม่ใช่สุนัขพันธุ์ใหญ่ ที่มีพลังสูง หรือบ้าพลัง เพราะผู้สูงอายุจะเอาไม่อยู่และอาจเกิดอันตรายได้ แนะนำให้เลือกเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก จะปลอดภัยมากกว่า หรือจะเป็นหมาพันธุ์ใหญ่แต่ไม่บ้าพลัง รวมไปถึงเลี้ยงสัตว์อย่างอื่นก็ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นแมว กระต่ายตัวน้อย นกที่พูดเจื้อยแจ้ว ปลาหลากสี ก็ช่วยคลายเครียดได้เช่นกัน นอกจากนี้ ลักษณะนิสัยหรือคุณสมบัติเฉพาะตัวของสัตว์เลี้ยงก็สำคัญครับ เราควรศึกษานิสัยเฉพาะตัว รวมถึงธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด และควรเลือกสัตว์ที่มีนิสัยคล้าย ๆ กับเราครับ จะได้ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดใจที่จะเลี้ยง รวมถึงการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อไม่สร้างความกังวลใจให้กับผู้สูงอายุ
เห็นไหมล่ะครับว่า สัตว์เลี้ยงตัวน้อยแต่กลับมีพลังในการเยียวยามหาศาล หากใครสนใจสามารถลองไปหามาให้ผู้สูงอายุที่บ้านเลี้ยงกันดูนะครับ แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ ไม่บีบบังคับ เพราะสัตว์เลี้ยงบำบัดอาจจะใช้ไม่ใด้สำหรับทุกคน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง