ข้าว เป็นอาหารคู่คนไทยมาช้านาน ผู้สูงอายุหลายท่านนิยมรับประทานร่วมกับอาหาร ต้ม ผัด แกง ทอด ชนิดอื่น ๆ เรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานอาหารที่ขาดไม่ได้ ทว่าตัวข้าวเองนอกจากจะจัดว่าเป็นแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) ชั้นดีที่ให้พลังงานสูงแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อย่างเช่นเส้นใย (Fiber) ช่วยเพิ่มกากใยให้ลำไส้ วิตามินบี (Vitamin B) ที่ช่วยเรื่องอาการเหน็บชา และส่วนประกอบยอดนิยมอย่าง สารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidants) ที่ช่วยชะลอการเสื่อมของร่างกาย จึงเป็นอาหารอีกหนึ่งอย่างที่ดีต่อสุขภาพผู้สูงอายุ แต่ข้าวแต่ละชนิดก็มีปริมาณและสารอาหารมากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพแตกต่างกัน ก็ควรเลือกรับประทานชนิดของข้าวให้เหมาะสมร่างกายของตนเอง
วิวัฒนาการปัจจุบันทำให้ข้าวถูกพัฒนามากมายหลากหลายสายพันธุ์ เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และเพิ่มตัวเลือกที่ดีต่อร่างกายผู้สูงอายุเช่นกัน ในทุกวันนี้หากเราเดินเข้าซุปเปอร์ เราจะเห็นข้าวมากมายหลายสายพันธุ์ที่มีข้อดีและสรรพคุณแตกต่างกัน แล้วจะเลือกข้าวอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ วันนี้ Eledery มีข้อมูลประโยชน์ของข้าว 6 ชนิดที่ดีต่อผู้สูงวัยมาฝากทุกท่าน
ข้าวหอมมะลิ
ข้าวชนิดแรกที่ทุกท่านคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะข้าวชนิดนี้นอกจากจะได้รับความนิยมในประเทศไทยแล้ว ความนุ่มและหอมของข้าวหอมมะลิยังแตกต่างจากข้าวสายพันธุ์อื่นอย่างสิ้นเชิง จนคว้าชื่อเสียงไกลถึงระดับโลก ข้าวหอมมะลิขึ้นชื่อว่าเป็นข้าวที่กลิ่นหอม และอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตที่มีสูงถึง 71-77% ซึ่งจะเป็นแหล่งพลังงานที่ดีให้แก่ร่างกาย นอกจากนี้ยังมีวิตามินบี 1 และวิตามินบี2 ที่ช่วยป้องกันอาการเหน็บชาและปากนกกระจอก
ข้าวหอมนิล
ข้าวหอมนิลจากชื่อก็บอกได้ถึงเอกลักษณ์ของข้าวที่มีสีดำสนิท ทว่าภายใต้รูปลักษณ์ที่คนไม่ค่อยนิยม เจ้าสีดำนี่เองที่เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของผิวและอวัยวะในผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ข้าวหอมนิลยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวช่วยกระตุ้นการรับประทานอาหารของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี ยังไม่หมดเท่านี้ ข้าวหอมนิลยังมีวิตามินบีช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท บรรเทาอาการอ่อนเพลีย มีใยอาหารช่วยในเรื่องของการขับถ่าย และควบคุมน้ำหนักได้อีกด้วย
ข้าวไรซ์เบอร์รี่
มาต่อกันที่ข้าวไรซ์เบอร์รี่สีม่วงเข้มโดดเด่น ข้าวชนิดนี้เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 2-3 ปี ด้วยสรรพคุณที่ประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสูง และอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและใยอาหารสูง จึงช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล เหมาะสำหรับผู้สูงอายุในการรับประทานแทนข้าวเจ้า หรือข้าวขาวทั่วไป เนื่องจาก ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นช้ากว่าจึงจัดเป็นทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพ ที่ดีในระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก
ข้าวเหนียว

ข้าวอีกชนิดที่หลาย ๆ ท่านชอบรับประทาน นั่นคือ ข้าวเหนียว แม้ว่าข้าวเหนียวจะถือเป็นอาหารหลักของคนในภาคอีสาน และภาคเหนือ นอกจากนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องการนำมาประยุกต์ทำได้ทั้งคาวและหวาน ทว่าประโยชน์ที่ซุกซ่อนอยู่ในเมล็ดข้าวเหนียวมีไม่น้อยไปกว่าประโยชน์เลยทีเดียว เนื่องจากข้าวชนิดนี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามิน บี1 บี2 มีโปรตีนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย นอกจากนั้นยังช่วยขับลมในร่างกาย ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ และปัญหาวุ้นนัยน์ตาเสื่อมซึ่งมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นตามตัวเลขอายุ ดังนั้นแล้วข้าวเหนียวจึงเป็นตัวเลือกน่าสนใจไม่ร้อยเลยสำหรับผู้สูงอายุ
ข้าวสังข์หยด
ข้าวสังข์หยดแม้ว่าจะเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่คุ้นเคยนัก แต่ภายใต้เมล็ดข้าวสีน้ำตาลอ่อนนี้อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย อาทิ กากใย โปรตีน ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็กสูง อีกทั้งยังมีสารแกมมาออไรซานอล เป็นสารที่มีคุณค่าทางโภชนา มีสารกาบาที่มีสำคัญต่อระบบประสาท ระบบเผาผลาญและช่วยกระตุ้นฮอร์โมนที่สร้างการเจริญเติบโตของเซลล์ใหม่ให้กับร่างกาย และสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็ง ป้องกันความจำเสื่อม บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ ชะลอความแก่ชราได้
ข้าวกล้อง

ข้าวกล้อง ข้าวที่สายสุขภาพนิยมรับประทานกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าคุณประโยชน์ที่โดดเด่นของข้าวชนิดนนี้อยู่ที่การเอาเปลือกข้าวออก โดยที่ยังคงจมูกข้าว หรือเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่ ซึ่งให้คุณค่าและประโยชน์ทางโภชนาการค่อนข้างสูง แถมอุดมไปด้วยวิตามิน สารกาบา เส้นใยอาหาร ช่วยรักษาผิวหนัง ป้องกันท้องผูก โรคโลหิตจาง โรคเหน็บชา และโรคปากนกกระจอกได้อีกด้วย
แต่นอกจากสรรพคุณมากมายแล้ว การรับประทานข้าวจำนวนมากไม่ได้ให้แต่ประโยชน์อย่างเดียว เพราะในข้าวเมล็ดเล็ก ๆ นี้ มีองค์ประกอบตัวร้ายอย่าง “น้ำตาล” แฝงอยู่ และเจ้าน้ำตาลนี่เองที่เป็นคู่ต่อสู้สำคัญสำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรืออยู่ในช่วงที่ต้องการคุมน้ำตาล วันนี้เอลเดอร์ขอแบ่งปันเคล็ดลับดี ๆ ในการเลือกข้าวที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวาน นั่นคือ การเลือกข้าวที่มี “ดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low Glycemic Index : Low GI) ” นั่นเอง
ดัชนีน้ำตาลคืออะไร
ค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index : GI) เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงความเร็วของอาหารหลังรับประทานและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายว่า “เปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ช้าหรือเร็ว” เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาลกลูโคส โดยอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (ค่า GI มากกว่า 70) หลังรับประทานจะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว ทำให้ร่างกายต้องผลิตอินซูลินออกมาอย่างรวดเร็วเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นหากรับประทานเป็นประจำ จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) การควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานเป็นไปได้ยากและเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้ในผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานอีกด้วย
ในบรรดาข้าวแต่ละชนิดก็มีระดับดัชนีน้ำตาลที่แตกต่างกันออกไป โดยข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวหอมนิล เป็นต้น ซึ่งข้าวเหล่านี้นอกจากจะช่วยคุมระดับน้ำตาลแล้ว ยังมีสรรพคุณต่าง ๆ อีกมากมายที่ผู้สูงอายุจะได้รับไปในคราวเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง