สวัสดีครับ พบกับเอลเดอร์อีกเช่นเคยนะครับ จากบทความที่แล้ว เอลเดอร์ได้อธิบายไปแล้วว่าโรคโควิด 19 เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ รวมถึงกลไกการก่อโรค วันนี้เอลเดอร์จะมาให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคโควิด 19 และวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นกันนะครับ เนื่องจากโควิด 19 เป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ติดต่อได้ง่ายผ่านละอองเสมหะ ไอ จาม หรือสัมผัสกับเชื้อโดยตรง ปัจจุบันยังคงมีการระบาดเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องหลายๆประเทศทั่วโลก และยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ทำให้มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง โดยมีรายงานข้อมูลบันทึกสถิติผู้ที่ได้รับเชื้อจำแนกตามอายุ โดยอ้างอิงจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2020 ได้บันทึกไว้โดยได้แบ่งเกณฑ์ตามอายุไว้ดังนี้

ช่วงอายุ  0-4 ปี                มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 1.2
ช่วงอายุ 5-14 ปี                มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 2.5
ช่วงอายุ 15-24 ปี              มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 9.6
ช่วงอายุ 25-64 ปี             มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 64
ช่วงอายุ 65-84 ปี             มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 19.4
ช่วงอายุมากกว่า 85 ปี      มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 3.4
และข้อมูลผู้ป่วยในไทย จากข้อมูลกรมควบคุมโรคได้บันทึกไว้ ณ วันที่  7 สิงหาคม 2020 พบว่ามีผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 345 ราย จากผู้ป่วยทั้งหมด 3423 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ป่วยทั้งหมด

ทำไมผู้สูงอายุควรจะต้องดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษในช่วงที่มีโควิด 19 ระบาด ?

         จากข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อโควิด 19 ข้างต้น จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยสูงอายุที่มีตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีมากถึงร้อยละ 25 ของผู้ป่วยโควิดทั่วโลก และเมื่อนำมาเปรียบเทียบสถิติของผู้ป่วยกับอัตราการเสียชีวิตพบว่า อัตราการเสียชีวิตผู้ป่วยโควิด 19 มีความสัมพันธ์กับอายุ สุขภาพ และเพศ

อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ที่สัมพันธ์กับอายุ

มีรายงานการวิจัยจากต่างประเทศถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 โดยทำการศึกษาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งสิ้นจำนวนกว่า 611,583 ราย จากทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ จีน อิตาลี สเปน อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา โดยแบ่งตามช่วงอายุ พบว่าผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี มีอัตราการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 1 และในขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นถึงร้อยละ 10 ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีช่วงอายุระหว่าง 60-69 ปี และเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 ในช่วงอายุระหว่าง 70-79 ปี และอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 30 ในผู้ป่วยโควิด 19 อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป 

จากรายงานการวิจัยเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มในผู้ป่วยโควิด 19 มีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นวัยผู้สูงอายุจึงควรได้รับการเอาใจใส่และระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงที่โควิด 19 กำลังระบาดอยู่นี้ จากข้อมูลข้างต้น ทุกท่านก็คงจะสงสัยกันใช่ไหมครับว่าทำไมผู้สูงอายุจึงเป็นวัยที่เสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 มากที่สุด มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นตัวส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีอาการป่วยจากโรคโควิด 19 มากกว่าวัยอื่น เอลเดอร์จะพามาดูกันต่อเลยนะครับ

ระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลงของผู้สูงอายุเกี่ยวข้องกับอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโควิด 19  อย่างไร

      ดังที่เอลเดอร์ได้เกริ่นไปคร่าวๆ จากบทความที่แล้วเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกับไวรัสโควิดนะครับว่า โดยปกติแล้ว ร่างกายของเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ทำหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายเราได้ง่ายๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย รา ปรสิตต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหากมีสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้พยายามที่จะเข้าสู่ร่างกายของเรา ก็จะเจอกับด่านภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันให้ร่างกายของเรา โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1). ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่เจาะจง หรือ ระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate immune) เป็นกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมแบบไม่จำเพาะเจาะจง ได้แก่ ผิวหนัง   เยื่อบุหลอดลม   น้ำมูก น้ำลาย น้ำตา หรือ การไอ ซึ่งภูมิคุ้มกันแบบไม่เจาะจงนี้จะทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันร่างกายเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้มีความเฉพาะเจาะจงต่อไวรัสหรือแบคทีเรียหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่พยายามจะเข้ามาในร่างกายของเรา

2). ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ หรือ ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง (Adaptive immune) ซึ่งระบบนี้จะทำงานหลังจากที่เชื้อโรคต่างๆ ได้ฝ่าด่านระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเราด่านแรกเรียบร้อยแล้ว เข้ามาสู่เนื้อเยื่อในร่างกายของเรา ในด่านนี้เม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่เป็นทหารหน่วยรบกับเชื้อโรคโดย ทหารเม็ดเลือดขาวของเรานั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภท 

ได้แก่ แกรนูโลไซต์ โมโนไซต์ และลิมป์โฟไซต์ ตัวที่ทำหน้าที่เป็นทหารเอกทำหน้าที่เป็นด่านรบแบบจำเพาะต่อเชื้อโรคที่เข้ามาในร่างกายของเราคือ เม็ดเลือดขาวชนิด ”ทีลิมป์โฟไซต์” ซึ่งจะทำหน้าที่หลั่งสารกระตุ้นเรียกว่า ไซโตไคน์ (cytokines) ออกมาเพื่อระดมพลกระตุ้นเซลล์ชนิดต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค

ในกรณีผู้สูงอายุ มีรายงานว่า ระบบภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะเสื่อมลง ตัวอย่างจากรายงานการวิจัยทางการแพทย์พบว่า ทีลิมป์โฟไซต์ ( T lymphocyte) หรือ ทีเซลล์ กำลังทหารที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพสูงสุดในการต่อสู้กับเชื้อโรค จะถูกสร้างหรือผลิตจากต่อมไทมัสน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหรือวัยชรา นอกจากนี้ข้อมูลการวิจัยได้บ่งชี้ว่าระบบภูมิคุ้มกันในวัยชราได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากวัยอื่นๆดังนี้
– ระบบภูมิคุ้มกันแบบไม่เฉพาะเจาะจงจะเพิ่มการทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น เมื่อมีการอักเสบมากขึ้น ก็จะส่งผลเสียหายต่อเนื้อเยื่อ หรือ อวัยวะนั้นๆได้
– ระบบระบบภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจงจะถูกผลิตหรือสร้างน้อยลง ดังเช่น ทีเซลล์ ที่เอลเดอร์ได้กล่าวคร่าวๆไปก่อนหน้าแล้วนั้นว่า ในผู้สูงอายุ ทีเซลล์จะถูกสร้างน้อยลง โดยมีรายงานการวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า ในช่วงอายุตั้งแต่ 40 หรือ 50 ขึ้นไป  ทีเซลล์จะถูกสร้างน้อยลงถึงร้อยละ 10

ดังนั้น เมื่อ ทีเซลล์ หรือทหารที่ทำหน้าที่ทำลายอย่างจำเพาะต่อเชื้อโรคลดจำนวนลง ทำให้ประสิทธิภาพต่อการป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรคลดลงตามไปด้วย จึงส่งผลทำให้เพิ่มโอกาสต่อไวรัสเข้ามาก่อโรคในร่างกายเราได้มากขึ้นนั่นเองครับ

นอกจากปัจจัยทางด้านประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงแล้ว ยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า “โรคประจำตัว” ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด 19 อีกด้วยนะครับ โดยจากรายงานขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ระบุว่าโรคประจำตัวที่มีผลต่อความรุนแรงของโรคโควิด 19 ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคตับ โรคไต โรคปอดและทางเดินหายใจ โรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

หากผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว ร่วมกับมีโรคประจำตัวดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจากเดิม ที่ต่ำหรือมีน้อยแล้ว ยิ่งลดลงไปอีก ส่งผลให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากขึ้น และก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคเพื่มมากขึ้น และเสี่ยงต่ออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วยครับ

เราจะมีวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นอย่างไรหากติดเชื้อโควิด 19?

   ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกได้ระบุอาการของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไว้ดังนี้ครับ  ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้ ร่วมกับอาการไอแห้ง ๆ หลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์จะมีปัญหาทางระบบหายใจคือ เริ่มมีอาการหายใจติดขัด และหากผู้ป่วยมีอาการหนักจะมีอาการปอดบวมอักเสบร่วมด้วย และถ้าหากมีอาการรุนแรงมากอาจทำให้อวัยวะภายในล้มเหลวและเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้ให้ข้อมูลถึงอาการที่พบมากในผู้ป่วยโควิด 19 และวิธีการสังเกตไว้ดังนี้ครับ
1) อาการที่พบมากที่สุดได้แก่ อาการไข้และตัวร้อน โดยผู้ป่วยโควิด 19 จะมีอาการนี้มากถึงร้อยละ 87.9
2) ไอแห้งๆ เป็นอาการที่พบมากรองลงมาจากไข้ และตัวร้อน โดยพบมากถึงร้อยละ 67.7%
3) อ่อนเพลีย พบร้อยละ 38.1
4) มีเสมหะ พบร้อยละ 33.4
5) หายใจติดขัด พบร้อยละ 18.6
6) เจ็บคอ ร้อยละ 13.9
7) ปวดหัว ร้อยละ 13.6
8) ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดข้อ ร้อยละ 14.8
9) หนาวสั่น ร้อยละ 11.4
10) วิงเวียนหรืออาเจียน ร้อยละ 5
11) คัดจมูก ร้อยละ 4.8
12) ท้องเสีย ร้อยละ 3.7

นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการแสดงอย่างอื่นน้อยมาก นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นคือ อาการทางระบบการรับกลิ่น รส สูญเสียไป โดยมีรายงานทางการแพทย์ ศึกษาตัวอย่างผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งหมด 8438 ราย จาก 13 ประเทศทั่วโลกระบุว่าพบผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีสุขภาพดี มีอาการอื่นๆเพิ่มเติมนอกเหนือจากอาการที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ อาการสูญเสียทางประสาทรับกลิ่น และรส กล่าวคือ  “ไม่ได้กลิ่น” และ ‘ไม่รับรู้รสชาติ “ นอกจากนี้ ก็ยังมีรายงานถึงพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่แสดงอาการใดๆเลย 

โควิด 19 กับไข้หวัดธรรมดาต่างกันอย่างไร?

         เนื่องจากโควิด 19 กับ ไข้หวัดธรรมดามีความใกล้เคียงกันมาก เอลเดอร์จะพาทุกท่านมาดูวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นกันก่อนนะครับ
ไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการส่วนใหญ่ดังนี้ครับ
–  มีไข้ต่ำ
–  น้ำมูกไหล
– ไอ
– จาม
– เจ็บคอ
โดยทั่วไป ไข้หวัดธรรมดา จะมีอาการไม่รุนแรงครับ แค่ทานยา พักผ่อน ก็จะสามารถหายได้เองภายใน 3-4 วัน

โควิด 19 มีอาการดังนี้ครับ
มีไข้สูง มากกว่า 37.5 องศา น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอแห้ง
– มีเสมหะ
– หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ
– ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีคลื่นไส้ ท้องเสีย
โควิด 19 ส่วนใหญ่โรคนี้ จะมีระยะฟักตัวก่อนแสดงอาการประมาณ 2-14 วัน หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ จะทำให้มีอาการรุนแรงมาก และอาจทำให้อวัยวะภายในล้มเหลวได้

ทั้งนี้ผู้ป่วยโควิด 19 จะมีอาการรุนแรง มากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ โรคประจำตัว และเพศ ก็มีส่วนในการส่งเสริมให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้น โดยเพศชายจะมีอัตราความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงกว่าเพศหญิงนอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย ดังนั้นการเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูง ควรได้รับการดูแล เอาใจใส่ เฝ้าระวังและสังเกตอาการ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดในผู้สูงอายุครับ 

อ้างอิง:

1). องค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO)
2). Polamarasetti and Martirosyan, Nutrition planning during the COVID-19 pandemic for aging immunity, Bioactive Compounds in Health and Disease 2020; 3(7):109-123
3).Chalise and Rosenberg, Covid-19 and Immunity in the Elderly, Journal of Geriatric Medicine, Volume1 Issue 3, October 2020
4). Bonanad et al., The Effect of Age on Mortality in Patients With COVID-19: A Meta-Analysis With 611,583 Subjects, JAMDA 21 (2020) 915e918
5).  
6).  
7). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
8). https://bbc.in/2GuVYPA 
9). โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
10) Agyeman et al., Smell and Taste Dysfunction in Patients With COVID-19: A Systematic Review and Meta-analysis, Mayo Clin Proc. August 2020;95(8):1621-1631 n

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top