โรคประจำตัวในผู้สูงอายุก่อให้เกิดความรุนแรงของโควิด-19 ได้อย่างไร?

     ดังที่เอลเดอร์ได้กล่าวไปในบทความที่แล้วนะครับว่า อายุที่เพิ่มขึ้นจะเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 มากขึ้น เนื่องจาก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบบจำเพาะ หรือทีเซลล์ จะถูกผลิตหรือสร้างน้อยลงในวัยผู้สูงอายุ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ประสิทธิภาพต่อการต่อสู้กับเชื้อโรคก็ต่ำลง ทำให้เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเรามีโอกาสก่อโรคสูงกว่าในวัยอื่นๆและมีความรุนแรงมากขึ้นนั่นเองครับ

     ในกรณีผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวด้วยนั้น มีหลายๆโรคส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง จากเดิมในวัยสูงอายุที่ระบบภูมิคุ้มกันต่ำกว่าในวัยอื่นๆแล้ว ประกอบกับโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้จากเดิม ที่ระบบภูมิคุ้มกันน้อยอยู่แล้ว ยิ่งน้อยลงไปอีกนั่นเองครับ แล้วมีโรคอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อการส่งเสริมความรุนแรงต่อโรคโควิด-19 เรามาดูกันต่อเลยนะครับ

โรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อความรุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19

ที่มาของรูป : Center for Diseases Control and Prevention (CDC) https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/69/wr/mm6924e2.htm 

       มีรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องโรคแห่งสหรัฐ หรือ ซีดีซี (CDC) ได้ระบุว่าผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีโรคประจำตัวสูงกว่าผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวสูงถึง 6 เท่าและ 12 เท่า โดยโรคที่พบมากสุดในผู้ป่วยโควิด-19 คือโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งจากรายงานได้มีการเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีประวัติมีโรคประจำตัวทั้งหมด 287,320 ราย พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดถึงร้อยละ 32.2 รองลงมาได้แก่ โรคเบาหวาน ร้อยละ 30.2 ตามด้วยโรคปอด ร้อยละ 17.5 โรคไต ร้อยละ 7.6 โรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร้อยละ 5.3 โรคทางระบบประสาท ร้อยละ 4.8 และโรคตับร้อยละ 1.4
ในประเทศไทย โรคที่พบมากที่สุดคือเบาหวาน ตามมาด้วยโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกได้ระบุเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง มีส่วนช่วยส่งเสริมความรุนแรงของโรคโควิด-19 งั้นเรามาดูรายละเอียดกันแต่ละโรคพร้อมกับวิธีการปฏิบัติตัวในแต่ละโรคในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 กันเลยนะครับ

โรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคโควิด-19 มีอะไรบ้าง และควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

1). โรคหัวใจและหลอดเลือด

         โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตอันดับต้นๆของโลกและในประเทศไทย พบว่ามีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงถึง 400,000 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 20,000 คนต่อปี ซึ่งการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น ไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น หากแต่ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโควิด 19 จะมีอาการหลักๆคือ ไข้สูง เมื่อมีไข้จะทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และอาการปอดบวมทำให้ระดับออกซิเจนที่ต่ำลง และนอกจากนี้มีโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่สูงขึ้น และอาจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน (Myocarditis) ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 อีกด้วย โดยมีรายงานว่า ผู้ป่วยโควิด-19 มีภาวะหัวใจล้มเหลวมากขึ้น ถึงร้อยละ 20 ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นร้อยละ 10 หัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นร้อยละ 10 เนื่องจากไม่มีวิธีการป้องกันที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้ครับ
· ทานยาให้ตรงตามแพทย์สั่ง
· ควรมียาสำรองไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน
· พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พยายามจัดการกับความเครียด งดอาหารเค็ม ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
· ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

2). โรคเบาหวาน

       โรคเบาหวานนับเป็นโรคประจำตัวอันดับต้นๆที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคโควิด-19 เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ  เมื่อผู้ป่วยเบาหวานติดเชื้อโควิด-19 การรักษาก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้นเนื่องจากมีความผันผวนของระดับน้ำตาลในเลือด ประกอบกับโรคแทรกซ้อน ทำให้การรักษาทำได้ยากมากขึ้น ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลักๆ 2 ปัจจัย ได้แก่
1) โรคเบาหวานทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้ไวรัสสามารถเข้าไปก่อโรคและก่อความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น
2) ผู้ป่วยเบาหวาน มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งไวรัสสามารถดำรงอยู่ได้ในสภาวะที่มีระดับน้ำตาลสูง ดังนั้นระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นในผู้ป่วยเบาหวาน จึงเป็นสภาวะแวดล้อมที่ดีสำหรับไวรัสในการดำรงอยู่ในร่างกายของเรานั่นเองครับ แล้วผู้ป่วยเบาหวานควรปฏิบัติตัวอย่างไร ? สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวานดังนี้ครับ
· ดื่มน้ำบ่อยๆ และหมั่นเช็คระดับน้ำตาลในเลือดควรอยู่ระหว่าง 80-180 มก./ดล
· ควรมียาสำรองเพียงพอหากต้องอยู่ในระยะกักตัว ไม่ควรขาดยาเบาหวาน
· หากมีอาการหวัด คัดจมูกเล็กน้อย ควรพักผ่อนที่บ้าน หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ให้รีบพบแพทย์
· สำรองอาหารประเภทน้ำตาลเผื่อไว้ กรณีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
· ชั่งน้ำหนักร่างกายทุกวัน หากน้ำหนักลดลงขณะกินอาหารได้ตามปกติ เป็นสัญญาณว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง

3). โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ

         เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจจะกระตุ้นอาการหอบหืด หรือทำให้เกิดอาการปอดบวมและโรคอื่นๆตามมา ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคปอดเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงของโรคมากขึ้นนั่นเองครับ

ข้อควรปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคปอดและทางเดินหายใจมีดังนี้ครับ
· ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงใช้ยาอย่างต่อเนื่องรวมถึงยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ตามที่แพทย์แนะนำ
· สำหรับผู้ป่วยหอบหืดควรระวังหรือหลีกเลี่ยงฝุ่นละอองต่างๆ รวมถึงการทำความสะอาดบ้าน ควรให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นโรคหอบหืดทำความสะอาดบ้านแทน โดยกำจัดฝุ่นให้สะอาด เปิดบ้านให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
· ควรสำรองยาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านหากไม่จำเป็น และปฏิบัติตามข้อแนะนำช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19

4). โรคไต

ผู้ป่วยโรคไต ถือเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่อยู่ในระยะที่ 3 ถึงระยะที่ 5 และผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดและผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายไตและต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุที่จากเดิมต่ำอยู่แล้ว ยิ่งต่ำลงไปอีก ทำให้เสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นนั่นเองครับ แล้วผู้ป่วยโรคไตต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง มาดูกันต่อเลยนะครับ
· สำหรับผู้ป่วยทีได้รับการปลูกถ่ายไต ให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และควรสำรองยาไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เผื่อกรณีฉุกเฉินครับ
· สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับการฟอกเลือดควรไปตามนัดหมายแพทย์ หากมีไข้ ควรปรึกษาแพทย์
· ควรรับประทานอาหารตามคำแนะนำของแพทย์
· ปฏิบัติตามคำแนะนำในการปฏิบัติตนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

5). ผู้มีภาวะระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

       ใครบ้างที่ถือว่ามีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง? ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคดังกล่าวนี้ ระบบภูมิคุ้มกันจะต่ำลงกว่าปกติ ประกอบกับผู้สูงอายุ ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงแล้ว ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เมื่อติดเชื้อจึงรุนแรงของโรคมากขึ้นนั่นเองครับ วิธีการปฏิบัติตนสำหรับผู้ที่มีภาวะระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องได้แก่
· ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทานยาให้ตรงตามที่แพทย์แนะนำ
· หลีกเลี่ยงปัจจัยอื่นที่อาจจะส่งเสริมให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น การอดนอน ความเครียด
· ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

6). โรคทางระบบประสาท

       เนื่องจากมีรายงานทางการแพทย์พบว่า โรคโควิด-19 นอกจากจะมีอาการทางระบบหายใจแล้ว ยังส่งผลต่อระบบประสาทอีกด้วย โดยมีข้อมูลจากสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะมีอาการทั้งทางระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย
อาการทางระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่อาการมึนศรีษะ ปวดศรีษะ ความรู้สึกตัวลดลง โรคหลอดเลือดสมอง เดินเซ และชัก
อาการทางระบบประสาทส่วนปลาย ได้แก่ ความผิดปกติของการรับรส การรับกลิ่น และการมองเห็น

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาทอยู่เดิมไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หากแต่ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อติดเชื้อไวรัส จะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และจะมีอาการรุนแรงมากขึ้นอีกหากผู้ป่วยอยู่ในวัยสูงอายุ วิธีการปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทมีดังนี้ครับ
· เนื่องด้วยโรคทางระบบประสาทมีหลายประเภท และวิธีการรักษาก็จะแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์กละปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด
· ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และทานอาหารที่มีประโยช์และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
· ลดความเครียด โดยหากิจกรรมผ่อนคลาย
· ควรมียาสำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน

7). โรคตับ

       ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ เช่นโรคตับแข็ง โรคตับอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งตับ หรือผู้ป่วยปลูกถ่ายตับที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของโรคมากขึ้นหากติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ควรระวังและป้องกันโดยปฏิบัติตนดังนี้ครับ
· ใช้ยาและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์
· ควรมียาสำรองไว้กรณีฉุกเฉินหรือต้องกักตัวอย่างน้อย 2 สัปดาห์
· ป้องกันการติดเชื้อโดยปฏิบัติตามคำแนะนำในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

จากที่เอลเดอร์ได้ยกตัวอย่างโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรคโควิด-19 มาแล้วข้างต้นนั้น นอกเหนือจากโรคประจำตัวแล้วยังพบว่าผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างช่วงปลูกถ่ายอวัยวะ โดยต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคได้เช่นกันครับ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยเหล่านี้ สามารถลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากผู้ป่วยมีวิธีการป้องกันที่ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เท่านี้เราก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคได้ครับ

อ้างอิง:
1). https://bit.ly/3eCFD81
2). Center for Diseases Control and Prevention (CDC)  
3). World Health organization (WHO) Thailand
4). https://news.trueid.net/detail/YQj2PV9kPnVQ
5).  
6)
7). สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย
8)
9)
10). สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top