ผมย้ำอยู่เสมอว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่างๆ ในร่างกายเสื่อมถอยไปตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งระบบที่สำคัญมากอันหนึ่งก็ คือระบบภูมิคุ้มกัน ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อโควิด – 19 ได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อย่างกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า โรค NCDs
กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) หรือ NCDs หมายถึงกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเชื้อโรค หรือการติดเชื้อ แต่เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย และสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรค NCDs นอกจากตัวโรคจะบั่นทอนคุณภาพชีวิตแล้ว หากมีการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไปด้วยครับ
เมื่อติดเชื้อโควิด – 19 เข้าไป มันทำอะไรเราบ้าง?
จากข้อมูลงานวิจัยพบว่า เมื่อเจ้าไวรัสโควิด – 19 เข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่ในสัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 8 หลังรับเชื้อ เพื่อยับยั้งหรือช่วยไม่ให้เกิดโรค ถ้าคนที่ภูมิคุ้มกันปกติ ใน 2 – 3 สัปดาห์แรกภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่ ในการป้องกันและกำจัดเชื้อโรค จึงพบมีกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และหายได้เอง
แต่ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันไม่ปกติ ไม่ว่าจะด้วยความเสื่อมสภาพไปตามอายุที่มากขึ้น หรือเพราะมีโรคประจำตัวต้องใช้ยารักษาที่ไปกดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเบาหวาน ที่ควบคุมระดับน้ำตาลเองไม่ได้ หรือโรคเลือดที่ เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจัดการเชื้อโรคได้ คนกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด – 19 จะมีอาการรุนแรง ไม่เพียงปอดถูกทำลายเท่านั้น แต่อาจเสียชีวิตเนื่องจากไตวาย ได้ครับ
กลุ่มโรค NCDs ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต และทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงโควิด – 19 มีด้วยกัน 6 โรค ดังนี้
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานคือจะปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในเวลากลางคืน กระหายน้ำมากกว่าปกติ น้ำหนักลดมากกว่าปกติ และมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า หากเบาหวานขึ้นตาจะส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคแทรกซ้อน ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ครับ
เนื่องจากระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ที่มากขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราการเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อโควิด – 19 อยู่ที่ประมาณ 9.2% ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานต้องคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ ไม่ควรหยุดยาเอง รวมถึงต้องควบคุมภาวะหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง และระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติ ทั้งนี้สมาคมแพทย์ต่อมไร้ท่ออเมริกา (American Association of Clinical Endocrinologists) ได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพื่อปรับใช้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ไว้ดังนี้
1. ทานยาหรือฉีดยาเบาหวานตามแพทย์สั่ง
2. เตรียมยาและชุดอุปกรณ์สำหรับเบาหวาน เช่น ยา เข็มฉีดยา ชุดตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ให้เพียงพอ เพื่อที่หากมีการประกาศภาวะฉุกเฉินจะได้มีเพียงพอต่อการใช้งาน โดยควรเตรียมเพิ่มจากของเดิมอย่างน้อยล่วงหน้า 30 วัน
โรคหลอดเลือดสมอง
อีกหนึ่งโรค NCDs ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต และทำผู้สูงอายุเสี่ยงโควิด – 19 ก็คือโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ – อัมพาต โรคนี้เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของความพิการ หรือเสียชีวิตได้ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น คนที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มีญาติสายตรงป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะน้ำหนักเกิน และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หากมีการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะส่งผลให้มีอาการรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไปถึง 3 เท่า
วิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ควบคุมน้ำตาล – ความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ – ดื่มเหล้า เป็นต้น
โรคหัวใจ
นอกจากจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆของคนไทยแล้ว “โรคหัวใจ” ยังทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงโควิด – 19 เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจคือพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่, ไม่ออกกำลังกาย, ไม่รับประทานผักและผลไม้, มีภาวะความดันโลหิตสูง, มีไขมันในเลือดผิดปกติ, เป็นโรคเบาหวาน รวมถึงการมีความเครียดสะสม เป็นต้น
โดยพบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หากติดเชื้อโควิด – 19 จะมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 13.2% ซึ่งเมื่อกลุ่มนี้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด – 19 จะส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 7% ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ 9% ตลอดจนไตวาย 4%
การป้องกันโรคหัวใจทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารและขนมจำพวกเบเกอรี่ หันมารับประทานอาหารที่มีเส้นใย เช่น ผักผลไม้ (ที่มีน้ำตาลน้อย) ข้าวซ้อมมือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงงดสูบบุหรี่และดื่มเหล้า ด้วยครับ
โรคความดันโลหิตสูง
ค่าความดันปกติของคนเราควรอยู่ที่น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่เมื่อใดก็ตามที่ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตขึ้นไปอยู่ในระดับสูงคือมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แสดงว่าคุณกำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น และกรรมพันธุ์ คือมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ – ดื่มเหล้า มีภาวะอ้วน และภาวะเครียดเรื้อรัง เป็นต้น
โดยพบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากมีการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 อัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าวจะอยู่ที่ 8.4% ดังนั้นวิธีป้องกันดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงก็คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเองครับ
โรคไตเรื้อรัง
โรคไต เป็นโรค NCDs ที่สำคัญอีกโรคหนึ่งที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต และทำผู้สูงอายุเสี่ยงโควิด – 19 โดยโรคไตเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไต ส่งผลให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย และการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดความผิดปกติ
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่อยู่ในระยะที่ 3 – ระยะที่ 5 รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือด และผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตซึ่งได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อโควิด – 19 จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลอย่างเคร่งครัดด้วยครับ
สำหรับการป้องกันให้ห่างไกลจากโรคไตที่สำคัญก็คือเรื่องพฤติกรรมการกิน คือ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด มันจัด และควรดื่มน้ำให้เพียงพอ นอกจากนี้คือหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
โรคปอดและทางเดินหายใจ
สำหรับผู้ป่วยโรคปอดและทางเดินหายใจที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 คือ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดอักเสบเรื้อรัง รวมถึงโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่
เนื่องจากเชื้อโควิด – 19 จะมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นอาการหอบหืดและอาจทำให้โรคปอดกำเริบหนักขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจเกิดโรคปอดบวมและโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา ทั้งนี้พบว่า ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ มีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด – 19 อยู่ที่ 8%
สำหรับการป้องกันโรคปอดและทางเดินหายใจที่สำคัญที่สุดก็คือการงดสูบบุหรี่นั่นเองครับ
เพราะผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นควรป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรค NCDs และโรคเรื้อรังทั้งหลาย อันจะส่งผลให้ผู้สูงอายุเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรงเสมอ ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ร่วมกับการดูแลอาหารการกิน ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อสุขภาพแข็งแรงแล้วก็จะมีเกราะป้องกันและรับมือกับเชื้อโรคได้ แต่สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีโรคเรื้อรัง สิ่งที่ต้องทำอย่างเคร่งครัดก็คือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ห้ามลดยา หรือซื้อยามาใช้เองอย่างเด็ดขาดครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
– https://www.thaipost.net/main/detail/90672
– https://allwellhealthcare.com/elderly-covid-19/
– https://www.posttoday.com/life/healthy/643636–
– https://www.vegandfruit400.org/2020/06/04/กินผัก-ลด-ncds-ต้าน-covid-19/