ถ้าไม่นับความเสื่อมทางร่างกายตามอายุ สำหรับผู้สูงอายุ โรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในช่วงวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะโรคเรื้อรังอย่าง “เบาหวาน” เป็นโรคติดอันดับ top 5 ที่คนไทยเป็นกันมาก เนื่องมาจากพฤติกรรมเสพติดความหวานแบบไม่รู้ตัว จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด แล้วเจ้าโรคนี้ทำให้ใครหลายคนกินอาหารไม่อร่อยดังเดิม แต่ใครจะรู้ว่าจริง ๆ คนที่เป็นเบาหวานสามารถกินอาหารได้หลากหลาย วันนี้เอลเดอร์จึงมาแนะนำวิธีการกินอาหารเพื่อพิชิตโรคเบาหวานกันครับ

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพเพื่อควบคุมโรคได้นั้น คือ การรับประทานอาหารในแต่ละวันให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั่นเอง อย่ากลัวอาการจะแย่จนทานอาหารน้อยเกินซึ่งอาจทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำจนอาจเกิดอันตราย และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทานมากเกินความต้องการของร่างกายจนนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือขึ้นเร็วเกินไปนะครับ
การรับประทานอาหารของผู้ป่วยเบาหวานนั้นมีความคล้ายคลึงกับหลักการทานอาหารเพื่อสุขภาพของคนทั่วไปนั่นแหละครับ คือ การทานให้ครบทุกหมู่ ปริมาณเหมาะสม และเพิ่มความหลากหลายเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจจนเบื่ออาหารนะครับ

ดังนั้นเพื่อการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานอย่างเหมาะสม ทั้งตัวผู้ป่วยเอง และผู้ดูแลหรือคนในครอบครัวควรเรียนรู้การเลือกชนิดอาหาร และจัดปริมาณอาหารในแต่ละมื้ออย่างถูกต้อง โดยจะต้องคำนึงถึงปริมาณและชนิดของแป้งและไขมันเป็นสำคัญ เพราะเป็นตัวการที่ทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงได้หากรับประทานมากเกินไป นอกจากนั้นการรับประทานอาหารเป็นเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญครับ ผู้ป่วยและผู้ดูแลจะต้องมีวินัย ทานอาหารตรงเวลาเป็นนิสัย และทานในปริมาณที่ใกล้เคียงกันในแต่ละวัน ไม่ควรอดอาหารเด็ดขาดนะครับ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลไม่สม่ำเสมออาจเป็นอันตรายได้ แต่ถ้าหากผู้ป่วยอยากทานอาหารอื่นๆ เพิ่มเติมที่คิดว่าอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรลดปริมาณอาหารที่ทานในแต่ละมื้อลงแทนการอดอาหารบางมื้อครับ

เรามาเรียนรู้กันดีกว่าครับว่าอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ควรทาน ไม่ควรทาน และควรทานได้ปริมาณมากน้อยแค่ไหนกันบ้าง ซึ่งโดยหลักๆแล้ว อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 3 ประเภท คือ 

ประเภทที่ 1 อาหารที่กินได้ไม่จำกัดนอกจากจะอิ่มก่อน แน่นอนครับว่าหลายคนรู้ดีว่าต้องเป็นผักแน่ๆ เพราะว่าผักเป็นอาหารที่มีพลังงานต่ำหรือเกือบจะไม่มีเลยทีเดียว นอกจากนั้น ยังมีกากใยอาหารที่เรียกว่า ไฟเบอร์ ซึ่งทำให้การดูดซึมน้ำตาลช้าลงได้แก่ ผักใบเขียวทุกชนิด เช่น ผักกาด ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ฯลฯ นำมาทำเป็นอาหารชนิดต่างๆ ตัวอย่างเช่น ต้มจืด ยำ สลัด ผัดผัก เป็นต้น 

ประเภทที่ 2 อาหารที่ห้ามกินเด็ดขาด เพราะอาหารเหล่านี้มีน้ำตาลสูงมากๆ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวานแน่นอนครับ อาหารเหล่านั้นได้แก่

  • น้ำตาล และขนมหวานๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง อาหารเชื่อม เค้ก คุกกี้ ช็อกโกแลต ไอศกรีม ฯลฯ
  • ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน องุ่น ลำไย มะม่วงสุก ขนุน ละมุด น้อยหน่า ลิ้นจี่ อ้อย ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาลทั้งหลาย
  • เครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำแดง โอเลี้ยง กาแฟเย็น ชาเย็น โกโก้เย็นเครื่องดื่มชูกำลัง นมข้นหวาน น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ ซึ่งมีน้ำตาลประมาณ 8-15% เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นน้ำมะเขือเทศ น้ำผักดื่มได้แต่ควรเป็นน้ำผักทำเองนำครับเพราะเราจะทราบดีว่ามันไม่มีน้ำตาลแน่นอน ถ้าน้ำผักเป็นกล่องอาจจะมีน้ำตาลอยู่เยอะพอสมควรเลยครับ หากต้องการดื่มชา กาแฟ ควรเป็นชาไม่ใส่น้ำตาล กาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล หรือใช้น้ำตาลเทียมแทนนะครับ

ประเภทที่ 3 อาหารที่กินได้แต่ต้องเลือกชนิด หรือจำกัดจำนวน

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินอาหารหลากหลายชนิด เพื่อไม่ให้เกิดความจำเจและให้ได้สารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ โดยเลือกกินอาหารตามกลุ่มต่างๆ ที่มีสารอาหารและพลังงานใกล้เคียงกัน ซึ่งหมายถึง อาหารแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อใช้ในเลือกรับประทานอาหารได้หลากหลายชนิดและเข้าใจคุณค่าทางโภชนาการของอาหารได้ง่ายขึ้น ช่วยคำนวณและจัดสัดส่วนอาหารให้เหมาะสมในแต่ละบุคคล และช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมากยิ่งขึ้นครับ

อาหารแลกเปลี่ยน สามารถจัดออกได้เป็น 6 หมวดหมู่ด้วยกัน ซึ่งในแต่ละหมวดก็จะมีอาหารหลากหลายให้แลกเปลี่ยนกัน เช่น หากไม่อยากทานข้าว ก็เปลี่ยนเป็นทานก๋วยเตี๋ยวแทน ซึ่งแน่นอนว่าข้าวกับเส้นก๋วยเตี๋ยวจะให้พลังงานที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นหากเราจะเปลี่ยนชนิดอาหาร เราต้องรับประทานในปริมาณที่กำหนดไว้ในแต่ละชนิดครับ

หมวดที่ 1 แป้ง หรือ ข้าว

ข้าวหรือแป้งแต่ละชนิดในปริมาณ 1 ส่วน (น้ำหนักไม่แน่นอน) จะได้คาร์โบไฮเดรต 18 กรัม โปรตีน 2 กรัม พลังงาน 80 กิโลแคลอรี ซึ่งผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถกินหมวดนี้ได้เหมือนคนปกติครับ เพราะข้าวเป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน สามารถกินได้มื้อละ 2 – 3 ส่วน ตัวอย่างเช่น

อาหารปริมาณอาหาร (1 ส่วน)อาหารปริมาณอาหาร (1 ส่วน)
ข้าวสวย1 ทัพพีบะหมี่สุก1 ก้อน
ขนมปังจืด1 แผ่นเส้นใหญ่ลวก1 ทัพพี
ข้าวเหนียว1 ช้อนโต๊ะขนมจีน1 จับ
เส้นสปาเก็ตตี้1 ทัพพีเส้นเซี่ยงไฮ้1 ทัพพี
มักกะโรนี1 ทัพพีวุ้นเส้น1 ทัพพี
สาคูลวก1 ทัพพีข้าวโพด1/2 ฝัก
ขนมปังแครกเกอร์5 แผ่นเผือกสุก1 ทัพพี
แป้งดิบ1 ช้อนโต๊ะมันสุก1 ทัพพี

หมวดที่ 2 เนื้อสัตว์ 

หมวดเนื้อสัตว์สามารถแบ่งตามปริมาณไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อสัตว์แต่ละชนิดได้ 3 หมวดย่อย ซึ่งในแต่ละหมวดย่อย เนื้อสัตว์ 1 ส่วนจะมีปริมาณโปรตีนเท่ากัน แต่ไขมันและพลังงานจะต่างกัน

เนื้อสัตว์ประเภทไขมันต่ำมาก มีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 0-1 กรัม พลังงาน 35 กิโลแคลอรี
อาหารปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)อาหารปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)
ปลาทูขนาดกลาง1 ตัวเนื้อปลา2 ช้อนโต๊ะ
ปลาหมึก2 ช้อนโต๊ะกุ้งสุก4 ตัว
ลูกชิ้นปลา2 ช้อนโต๊ะอกไก่ไม่มีหนัง2 ช้อนโต๊ะ
เนื้อสัตว์ประเภทไขมันปานกลางมีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 5 กรัม พลังงาน 75 กิโลแคลอรี
อาหารปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)อาหารปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)
เนื้อหมูไม่มีมัน2 ช้อนโต๊ะลูกชิ้นหมู4 ชิ้น
ซี่โครงหมูไม่มีมัน4 ชิ้นเต้าหู้ขาวแข็ง60 กรัม
ไข่ไก่1 ฟองเต้าหู้อ่อนหลอด180 กรัม
เนื้อสัตว์ประเภทไขมันสูงมีโปรตีน 7 กรัม ไขมัน 5 กรัม พลังงาน 100 กิโลแคลอรี
อาหารปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)อาหารปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)

ไส้กรอกขนาดกลาง

1 ชิ้น
แฮม1 แผ่น
หมูยอ2 ชิ้น

หมวดที่ 3  หมวดนม

ชนิดของนมปริมาณ (1 ส่วน)โปรตีน(กรัม)ไขมัน(กรัม)คาร์โบไฮเดรต(กรัม)พลังงาน(กิโลแคลลอรี่)
นมสดรสจืด240 มล.8812150
นมพร่องมันเนย240 มล.8512120
นมขาดมันเนย240 มล.80-31290

ข้อควรระวัง
– ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณท์นม เช่น เนยแข็ง หรือ ชีส (Cheese) เพราะจัดอยู่ในหมวดเนื้อสัตว์
– ผู้ที่มีระดับโคเรสเตอรอลในเลือดสูงควรเลือกชนิดพร่องมันเนย หรือขาดมันเนย เพราะนมสดและผลิตภัณท์ของนมจะมีไขมันอิ่มตัวและโคเรสเตอรอลสูง
– ควรหลีกเลี่ยงนมที่มีการปรุงแต่งทุกชนิด เช่น ชนิดหวาน นมรสสตรอเบอรี่ หรือรสช็อคโกแลต รวมทั้งนมเสริมน้ำผลไม้ทุกชนิด เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูง 

หมวดที่ 4 หมวดผัก

ผักประเภทที่ 1 เป็นผักที่ให้พลังงานต่ำมาก ถ้ารับประทานไม่ถึงมื้อละ 1-2 ส่วน ไม่ต้องนำมาคิดเป็นพลังงาน มักจะใช้เป็นสมุนไพรแต่งกลิ่นหรือรสอาหาร ได้แก่ ผักกาดขาว ผักปวยเล้ง โหระพา กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ คึ่นช่าย มะเขือเทศ มะเขือ แตงกวา ฟักเขียว บวบ พริกหยวก ตั้งโอ๋ ผักกาดสลัด

ผักประเภทที่ 2 เป็นผักที่รับประทานได้ในปริมาณที่ให้พลังงาน ปริมาณ ½ ถ้วยตวงหรือ 70 กรัม มีโปรตีน 2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลลอรี่ ได้แก่ ฟักทอง แครอท สะตอ ผักหวาน ถั่วลันเตา ยอดมะพร้าวอ่อน ยอดชะอม ยอดสะเดา ต้นกระเทียม ถั่วฝักยาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง พริกหวาน บล็อกโคลี่ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง มะระจีน หัวไชเท้า มะเขือยาว

หมวดที่ 5 หมวดผลไม้

ผลไม้ 1 ส่วน มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม ให้พลังงาน 60 กิโลแคลรี โดยปริมาณต่อ 1 ส่วนจะขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้

ผลไม้ปริมาณ(1 ส่วน)ผลไม้ปริมาณ (1 ส่วน)
แตงโม10 ชิ้นแก้วมังกร¼ ผล 
องุ่น8-10กล้วยไข่1 ผล
ชมพู3 ผลกล้วยหอม½ ผล
ส้มโอ2 ชิ้นมังคุด4 ผล
สัปปะรด8 ชิ้นฝรั่งสาลี่½ ผล
มะละกอสุก3-4 ชิ้นเงาะ4 ผล
ผลกีวี่1 ผลลองกอง6 ผล
แอปเปิ้ลเล็ก1 ผลลำไย6 ผล
มะม่วงสุก½ ผลเล็กลิ้นจี่5 ผลกลาง
ส้มเขียวหวาน1 ผลขนุนสุก2 ชิ้น

หมวดที่ 6 หมวดไขมัน

ไขมัน 1 ส่วน คือไขมันที่ปริมาณ 1 ช้อนชา จะให้ไขมัน 5 กรัม และพลังงาน 45 กิโลแคลอรี ซึ่งเราจะแบ่งตามประเภทของกรดไขมัน ดังนี้

กลุ่มไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA : Monounsaturated Fatty Acids)
ชนิดไขมันปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)ชนิดไขมันปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)
น้ำมันมะกอก1 ช้อนชาถั่วลิสง10 เมล็ด
น้ำมันรำข้าว1 ช้อนชาเม็ดมะม่วงหิมพานต์
6 เมล็ด
น้ำมันถั่วลิสง1 ช้อนชา
กลุ่มไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA: Poly-unsaturated Fatty Acid)
ชนิดไขมันปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)ชนิดไขมันปริมาณน้ำหนัก(1 ส่วน)
น้ำมันถั่วเหลือง1 ช้อนชาน้ำมันดอกคำฝอย1 ช้อนชา
น้ำมันข้าวโพด1 ช้อนชาน้ำมันดอกทานตะวัน1 ช้อนชา
เมล็ดฟักทอง1 ช้อนโต๊ะเมล็ดทานตะวัน1 ช้อนโต๊ะ

ปริมาณอาหารตามหลักโภชนาการที่ผู้สูงอายุควรได้รับใน 1 วัน

ในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยแบ่งได้ดังนี้

กลุ่มอาหารปริมาณ
กลุ่มข้าว/แป้ง7 ทัพพี
ผัก6 ทัพพี
ผลไม้3 ส่วน
เนื้อสัตว์6 ช้อนโต๊ะ
นม1 แก้ว
น้ำมัน2.5 ช้อนชา

ถ้าหากเรามีการจำกัดและควบคุมการกินของเราในสัดส่วนที่พอดีและพอเพียงต่อความต้องการในแต่ละวันแล้วล่ะ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถพิชิตเบาหวานได้แล้วละครับ แรก ๆ อาจจะยากสักหน่อย แต่ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวได้เอง ที่สำคัญอย่าลืมว่าวัยสูงอายุฟื้นฟูร่างกายได้ไม่ดีเท่าหนุ่มสาว ดังนั้นอย่าเผลอตามใจปากมากเกินไปนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. อาหารเฉพาะโรคสำหรับผู้สูงอายุ, 2550

– – http://110.164.68.234/nutrition_6/index.php/en/2016-03-21-10-18-59

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top