“น้ำพริกผักลวก” อาหารพื้นบ้านที่เป็นเมนูโปรดของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักมีอาการเบื่ออาหาร ทานข้าวไม่ได้ แต่ถ้ามีของโปรดอย่างผักน้ำพริกอยู่ในเมนูด้วยละก็ รับรองว่าผู้สูงอายุเจริญอาหารแน่นอนครับ

แต่นอกจากความอร่อยแล้ว ทราบไหมครับว่าในน้ำพริก 1 ถ้วยนั้น ประกอบด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด เมื่อรวมกับผักจิ้มที่ใช้กินคู่กัน “น้ำพริกผักลวก” จะกลายเป็นเมนูที่อัดแน่นด้วยคุณประโยชน์คับถ้วย ทั้งยังช่วยต้านโรค NCDs ได้อีกด้วยครับ

ความจริงแล้วประเทศไทยเคยมีน้ำพริกมากกว่า 500 ชนิด แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 200 ชนิดเท่านั้น โดยแบ่งประเภทตามแต่ละท้องถิ่น ตามส่วนประกอบและกรรมวิธีการทำน้ำพริก เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู น้ำพริกลงเรือ ซึ่งเป็นน้ำพริกของภาคกลาง, น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปู๋ น้ำพริกข่า ของภาคเหนือ, ปลาร้าบอง น้ำพริกปลาร้า ของภาคอีสาน และน้ำพริกมะขามทอด น้ำพริกโจร น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกไตปลาแห้ง ของภาคใต้ เป็นต้น  

ทั้งนี้ น้ำพริกได้รับการยอมรับว่ามีคุณสมบัติทางยาโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศดังกล่าว ทั้งยังยืนยันว่า น้ำพริกมีส่วนประกอบของสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือแอนตี้ออกซิแด้นท์ ซึ่งสามารถลดการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ได้ 20%, ลดการเกิดโรคทางสมอง ได้ 26 – 42% ทั้งยังส่งเสริมระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบการหายใจให้ดีขึ้น ที่สำคัญคือซึ่งช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวานได้…นั่นก็หมายความว่า “ผักน้ำพริก” อาหารพื้นบ้าน สามารถ ต้านโรค NCDs ได้นั่นเองครับ

“น้ำพริก” มีส่วนประกอบหลักอะไรบ้าง?

อย่างที่บอกไปแล้วว่าในน้ำพริก 1 ถ้วยมีส่วนประกอบของสมุนไพรหลากหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น พริก กระเทียม หอมแดง กะปิ มะนาว และน้ำปลา เป็นต้น โดยส่วนประกอบแต่ละชนิดมีประโยชน์ ดังนี้

พริก มีสารแคปไซซิน ที่ทำให้เผ็ดร้อน และมีสารแคโรทีนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้สดชื่น ตื่นตัว ขับลมในลำไส้ กระตุ้นให้เจริญอาหาร และยังมีวิตามินซีที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

กระเทียม มีสารอัลซิลิน และซัลเฟอร์ ช่วยลดอาการขาดหลุดร่วงของเส้นผม ลดความดันโลหิต ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มหรืออุดตันตามผนังหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตและเสริมภูมิต้านทานร่างกายได้อีกด้วยครับ

หอมแดง มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับพริก ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ช่วยป้องกันการติดเชื้อและช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้ นอกจากนี้หอมแดงยังมีฟอสฟอรัสในปริมาณสูง ช่วยบำรุงความจำและระบบประสาท ทำให้สมองปลอดโปร่งแจ่มใส

กะปิ อีกหนึ่งส่วนประกอบของน้ำพริกที่มีประโยชน์ เนื่องจากมีแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ซึ่งในกะปินั้นมีแคลเซียมมากกว่าในนมวัวถึง 15 เท่า นอกจากนี้ยังมีวิตามินบี 12 ที่ช่วยบำรุงระบบประสาท และเสริมการสร้างเม็ดเลือด ช่วยป้องกันอาการโลหิตจางได้ ที่สำคัญในกะปิยังมีสารแอสตาแซนทิน ซึ่งเป็นสารที่พบในสัตว์ทะเลอย่างกุ้งหรือเคย ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากต่อร่างกายและผิวพรรณ

สำหรับการปรุงรสน้ำพริก โดยเฉพาะน้ำพริกกะปิ แนะนำว่า ไม่ควรปรุงให้มีรสชาติจัดจ้านจนเกินไป ซึ่งเครื่องปรุงที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็คือบรรดาที่มีโซเดียมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กะปิ (1 ช้อนชา มีโซเดียม 1,500 มิลลิกรัม), น้ำปลา (1 ช้อนชา มีโซเดียม 500 มิลลิกรัม) และผงชูรส (1 ช้อนชา มีโซเดียม 600 มิลลิกรัม) ดั้งนั้นถ้าต้องการให้ “ผักน้ำพริก” ถ้วยโปรดนี้ดีต่อสุขภาพจริงๆ อาจจะงดหรือลดปริมาณของน้ำปลาและผงชูรสลงไป เพื่อให้น้ำพริกถ้วยนี้มีโซเดียมไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัม หรือไม่เกินปริมาณที่ร่างกายผู้สูงอายุควรได้รับแต่ละวันก็ได้ครับ  

ผักอะไร กินแล้วห่างไกล NCDs

นอกจากน้ำพริกที่ทานพร้อมกับข้าวสวยร้อนๆแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือผักจิ้ม ซึ่งเคยมีคนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผักจิ้มน้ำพริกไว้ว่ามีมากกว่า 100 ชนิด มีทั้งแบบพืชหัว ไม้เลื้อย ไม้ยืนต้น รวมถึงพืชผักอายุสั้น และผักที่ขึ้นในที่ชื้นแฉะ แล้วผักชนิดไหนบ้างที่กินแล้วห่างไกลโรค NCDs ไปดูกันเลยครับ

พืชผักจำพวกลำต้นใต้ดิน หรือพืชหัว กลุ่มนี้รวมถึงพืชผักที่สามารถนำหน่อ หัว ราก และลำต้นมาทานคู่กับน้ำพริกได้ เช่น หน่อไม้ ขิง ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย กระทือ กระวาน กระชาย หน่อกระเจียว ถั่วงอก

ตัวอย่างพืชหัวที่มากด้วยประโยชน์ เช่น  กระชาย โดยภูมิปัญญาดั้งเดิมเปรียบเปรยให้กระชายคือโสมแบบไทยๆ เป็นยาอายุวัฒนะ กินบำรุงกำลัง ใช้แก้อาการปวดท้องและท้องเสียได้  หรือจะเป็นขมิ้นที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของหลอดเลือด ดังนั้นถ้าจะนำผักเหล่านี้มาทานเป็นผักน้ำพริก ก็เชื่อจะสามารถต้านโรค NCDs ได้  

พืชผักกลุ่มไม้เลื้อยไม้เถา ที่เราคุ้นเคย เช่น ตำลึง มะระขี้นก ถั่วพู ถั่วฝักยาว บวบงู ยอดฟักทอง ฟักแม้ว แตงกวา แตงร้าน และน้ำเต้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นพืชผักพื้นบ้านที่สามารถหาทานได้เกือบทุกฤดูกาล ทั้งยังมีประโยชน์กับสุขภาพ เช่น มะระขี้นก ที่ผลของมันสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และควบคุมระดับไขมัน จึงไม่แปลกที่จะบอกว่ามะระขี้นกสามารถต้านโรค NCDs ได้  

พืชผักกลุ่มไม้ยืนต้นและไม้ใหญ่ อีกหนึ่งผักจิ้มน้ำพริกที่หลายคนนิยม เช่น แค ซึ่งสามารถกินได้ทั้งดอกและยอดอ่อน หรือจะเป็นขนุน ที่ลูกอ่อนๆของมันสามารถนำมาต้มกินกับน้ำพริกได้ นอกจากนี้ยังมี ขี้เหล็ก มะยม สะเดา ทองหลาง สะตอ เหรียง รวมถึงกล้วยที่สามารถนำหยวกกล้วยมาต้มกินกับน้ำพริกได้

ตัวอย่างไม้ยืนต้นที่มีประโยชน์แต่หลายคนอาจยังไม่รู้จัก เช่น เพกา โดยจะใช้ฝักมาเผาหรือย่าง แล้วนำมากินกับน้ำพริก ซึ่งฝักแก่ มีรสขม ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ ส่วนฝักอ่อน จะมีรสขมร้อน ใช้เป็นยาขับลมได้

พืชผักกลุ่มอายุสั้น กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผักพื้นบ้านซึ่งหลายคนนิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูต่างๆ แต่อาจยังไม่รู้ว่ามันสามารถนำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้เช่นกัน  เช่น ผักชี ผักชีลาว ผักชีล้อม ผักชีฝรั่ง ใบชะพลู ผักขม ผักแพว ผักเชียงดา ผักแขยง ผักตูบหมู ผักขี้หูด และสะระแหน่  โดยเฉพาะผักชีลาว ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีคุณสมบัติทางยาคือให้ความร้อนและความอบอุ่นแก่ร่างกาย นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยตามธรรมชาติของผักชีลาวยังช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยการไหลเวียนเลือด และช่วยควบคุมไขมันในเลือดได้อีกด้วย

พืชผักกลุ่มที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ กลุ่มนี้หลายคนรู้จักและทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกกันอยู่ประจำ เช่น ผักบุ้งนา ผักแว่น ผักกระเฉด บัวบก โสน และบัว (สายบัว) เป็นต้น ซึ่งผักแต่ละชนิดก็มีประโยชน์เฉพาะตัวที่แตกต่างกัน

นอกจากประโยชน์ของผักจิ้มน้ำพริกแต่ละชนิดที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ผักทุกชนิดมีแน่ๆ นั้นก็คือไฟเบอร์หรือใยอาหารที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ และในผักจิ้มเหล่านี้ยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงและช่วยต้านโรค NCDs ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งได้

“น้ำพริก” กินกับอะไรก็ได้ประโยชน์

สำหรับเมนู ผักน้ำพริก ถ้าจะให้ได้คุณประโยชน์ครบถ้วน และเพิ่มอรรถรสของมื้ออาหารให้มากขึ้นไปอีก สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยเห็นจะเป็นบรรดาเครื่องเคียงทั้งหลาย ไปดูครับว่ามีอะไรบ้าง

น้ำพริกกับปลาทู เนื่องจากในน้ำพริกมีส่วนประกอบหลักก็คือ พริกซึ่งมีสารแคโรทีนอยด์ที่ละลายได้ดีในน้ำมัน ดังนั้นการทานน้ำพริกกับปลาทูทอด จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารที่มีประโยชน์จากพริกได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังได้ทั้งโปรตีน แคลเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระจากน้ำพริกกับปลาทูอีกด้วยครับ

น้ำพริกกับไข่ต้ม/ไข่เค็ม อีกหนึ่งเครื่องเคียงกับน้ำพริกที่หลายคนโปรดปรานก็คือไข่ต้มหรือไข่เค็ม เมนูนี้นอกจากจะได้ประโยชน์จากน้ำพริกถ้วยโปรดแล้ว ยังได้คุณค่าทางโภชนาการจากไข่ไปเต็มๆ ทั้งกรดอะมิโน วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ด้วย    

น้ำพริกกับเต้าหู้ สำหรับคนที่เบื่ออาหารจานไข่ แต่ยังอยากได้ทั้งแคลเซียมและโปรตีน แนะนำเป็นน้ำพริกกับเต้าหู้แทน จะเลือกแบบเต้าหู้นึ่งหรือเต้าหู้ทอด ก็ไม่ผิดกติกาครับ

น้ำพริกกับเห็ด สำหรับคนที่ไม่ชอบทานเนื้อสัตว์หรือไม่ชอบของทอดๆ แนะนำให้ทานน้ำพริกกับเห็ดครับ เพราะเห็ดนั้นมีเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับการทานเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังมีวิตามินเอ วิตามินบี2 และโปรตีนอีกด้วย

เห็นไหมครับว่าเมนูธรรมดาๆ อย่าง “ผักน้ำพริก” อาหารพื้นบ้าน ของไทยเราที่มีมาช้านาน มีคุณค่าทางโภชนาการมากแค่ไหน แต่ประโยชน์ที่มากมายเหนืออื่นใดก็คือ ต้านโรค NCDs ได้ นั่นเองครับ…วันนี้อย่าลืมกินข้าวกับน้ำพริกนะครับ    

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
– https://www.matichonweekly.com/column/article_143243
 http://squidbrand.com/thai/ประโยชน์ของน้ำพริกเพื่/
 https://women.trueid.net/detail/VNMoPyP4wk2
https://www.technologychaoban.com/folkways/article_22699

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top