เมื่อช่วงปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน ได้มีโรคระบาดจากไวรัสชนิดใหม่ชื่อว่า “โควิด-19” ซึ่งเป็นการระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลกนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผล กระทบมากมายรวมถึงเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราไปจากเดิม และในปัจจุบันยังไม่มียารักษาและวัคซีนกำลังอยู่ในระหว่างคิดค้นและทดสอบ การระมัดระวังและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้สูงวัย ซึ่งมีรายงานว่ากลุ่มผู้สูงอายุ หากติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงมากกว่าในวัยอื่นๆ เรามาดูกันนะครับว่าเราจะมีวิธีป้องกันผู้สูงวัย ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 ได้อย่างไร
โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ 3 แนวทางได้แก่ ลด เลี่ยง ดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุปลอดภัยจากโควิด-19 ได้แก่
1). การลด คือ ลดการสัมผัสติดต่อ ใกล้ชิด ซึ่งได้แก่ ญาติ หรือคนรู้จัก
2). การเลี่ยง คือ การปฏิบัติตัวของผู้ดูแลหลักที่ต้องดูแลผู้สูงอายุโดยไม่พาไปที่แออัด หรือ ออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็น
3). การดูแล คือ ดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีของตัวผู้สูงอายุเอง
ญาติหรือคนรู้จักควรปฏิบัติตนอย่างไร?
1). งดการพบปะหรือติดต่อใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหากมีอาการเหล่านี้ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก หรือมีอาการผิดปกติทางระบบหายใจ
2). ในขณะเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุ ให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ลดการเข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุ และเว้นระยะห่างประมาณ 2 เมตร
3). ในกรณีที่ไม่จำเป็น ให้พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดการมาเยี่ยมผู้สูงอายุให้น้อยที่สุด หรือหากจำเป็นต้องติดต่อ ให้เลี่ยงการติดต่อโดยตรง โดยใช้โทรศัพท์หรือสื่อออนไลน์อย่างอื่นแทน
4). หากมีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรือติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ห้ามเข้าไปใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยเด็ดขาด และกักตัวเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วัน นะครับ
ผู้ดูแลหลักควรปฏิบัติตนอย่างไร?
1). ควรจัดให้มีผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียว เพื่อลดการพบปะและลดความเสี่ยง หรือหากจำเป็นสามารถสลับได้ แต่ให้ใช้จำนวนคนให้น้อยที่สุด และผู้ดูแล หากไม่จำเป็นไม่ควรออกไปข้างนอก โดยอยู่บ้านให้มากทาสุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการนำเชื้อมาให้ผู้สูงอายุ
2). ผู้ดูแลและผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็ก เนื่องจากเด็กอาจจะไม่เข้าใจและขาดความระมัดระวังในการป้องกันโรคโควิด-19
3). หากผู้ดูแลมีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และที่ขาดไม่ได้คือแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือทุกครั้งหลังจับสิ่งของ และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความแออัด
4). เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ควรล้างมือให้สะอาด โดยการฟอกสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอลล์เจลโดยทิ่งไว้ให้ชุ่ม ประมาณ 20 วินาที และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อกลับเข้าบ้าน ก่อนเตรียมอาหาร หลังการไอหรือจาม และหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้งครับ
5). หลังจากออกไปนอกบ้าน เมื่อกลับถึงบ้านแล้วผู้ดูแลควรอาบน้ำ สระผม ชำระร่างกายให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ก่อนไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ
6). ควรแยกห้องพักและของใช้ส่วนตัวของผู้สูงอายุ หากกรณีแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด ห้องพักควรมีอากาศถ่ายเท
7). ทำความสะอาดพื้นผิวที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดหรือมือจับประตู โต๊ะ หรือราวจับ รีโมท โทรศัพท์ พื้น โถส้วม ปุ่มกดน้ำชักโครก ก็อกน้ำ เป็นต้น
ยกตัวอย่าง สารที่เราสามารถผสมและใช้ทำความสะอาดเองได้นะครับ เช่น
– Sodium hypochlorite หรือ น้ำยาซักผ้าขาว ไม่เหมาะสำหรับใช้ฆ่าเชื้อพวกพื้นผิวโลหะ ซึ่งวิธีผสมขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ เช่นถ้าผลิตภัณฑ์ความเข้มข้น 5% ให้ผสม 20 มิลลิลิตร หรือ 1.3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร ถ้าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ความเข้มข้น อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ สามารถปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ตามอัตราส่วนนี้ได้เลยนะครับ
– Chloroxylenol หรือสารฆ่าเชื้อที่เป็นองค์ประกอบใน เดทตอล ถ้าความเข้มข้น 4.8% ให้ผสม 25 มิลลิลิตร หรือ 1.3 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร
– Hydrogen peroxide (ไม่เหมาะกับโลหะและผลิตภัณฑ์ที่มีการเคลือบสี) ถ้าความเข้มข้น 5% ให้ผสม 110 มิลลิลิตร หรือ 7.5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร
ผู้สูงอายุควรปฏิบัติตนอย่างไร ?
– ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม
– ไม่เอามือสัมผัสหน้า จมูก ปาก
– ในกรณีที่มีโรคประจำตัว หากควบคุมโรคประจำตัวได้ดี อาจขออนุญาตแพทย์ที่ดูแล เพื่อขอรับยาและเลื่อนนัดหมายให้นานกว่าปกติ เพื่อลดความถี่ของการที่จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
– ในกรณีที่มีโรคประจำตัว หากอาการแย่ลง หรือผลการตรวจล่าสุดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อนัดหมายไปตรวจด้วยช่องทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยสวมหน้ากากทุกครั้งที่ต้องเดินทางออกจากบ้าน
– หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียด
– ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานยาประจำตัวอย่างเสมอ และปฏิบัติตามหลัก 5อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ เอนกายพักผ่อน และออกห่างสังคมแออัด
หลัก 5 อ. ที่ควรปฏิบัติมีอะไรบ้าง?
1). อาหาร ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ รสต้องไม่จัด ไม่หวาน หรือเค็มจนเกินไป ทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
2). ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายด้วยท่าง่ายๆ เช่น เดิน หรือแกว่งแขนออกกำลังกายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ วันละประมาณครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นอย่างน้อยนะครับ
3). อารมณ์ พยายามอย่ารับข่าวสารที่มากเกินไป เพราะอาจจะส่งผลต่ออารมณ์ หรือวิตกกังวลจากการรับข่าวสารที่มากเกินไปได้ครับ
4). เอนกายพักผ่อน การพักผ่อนให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้สูงอายุควรนอนหลับให้เพียงพอ ประมาณ 7-9 ชม. นะครับ
5). ออกห่างสังคมนอกบ้าน ควรอยู่บ้านให้เยอะที่สุด และหลีกเลี่ยงที่แออัด