อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เราจำเป็นจะต้องได้รับเพื่อการดำรงชีพ และอาหารนี่แหละที่เป็นแหล่งกำเนิดโรคต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ดังคำกล่าวที่คุ้นเคยกันดีว่า “you are what you eat” อาหารการกินจึงส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเรามาก ถ้าหากเรารับประทานแต่ของที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายก็จะส่งผลให้เรามีสุขภาพดีและแข็งแรง แต่หากเรารับประทานของที่ไม่มีประโยชน์และไม่ถูกสุขลักษณะก็จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไต โรคไขมันในเลือด รวมไปถึงโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง นับว่าเป็นแพ็คเกจโรคยอดฮิตของคนไทย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ก็เกิดมาจากพฤติกรรมการรับประทานนั่นเอง

การจะมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงนั้นอาหารการกินจึงเป็นส่วนสำคัญเลยทีเดียว วันนี้เอลเดอร์เลยอยากจะชวนทุกท่านมาศึกษาศาสตร์แห่งโภชนบำบัดหรือการใช้อาหารในการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของการดูแลสุขภาพร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อมุ่งปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเราให้ร่างกายได้ฟื้นคืนกลับเข้าสู่สมดุลและแข็งแรงขึ้น
โภชนบำบัดคืออะไร
ความหมายของโภชนบำบัดก็คือการใช้อาหารมารักษาอาการป่วยและผิดปกติของร่างกาย ซึ่งใช้บำบัดได้เกือบทุกโรค แต่จะได้ผลดีกับโรคที่เกิดกับพฤติกรรมการกินอย่างโรคอ้วนและโรคเบาหวานมักจะมาจากการรับประทานอาหารพวกแป้งและน้ำตาล โรคไตเกิดจากการรับประทานเค็มหรืออาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง ส่วนโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองจะเกิดจากการที่มีไขมันอุดตันในเส้นเลือดซึ่งก็เป็นผลจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเป้าหมายหลักของโภชนบำบัดคือช่วยรักษาและบรรเทาอาหารของโรคไม่ให้แย่ลง ด้วยการงดรับประทานอาหารที่จะเข้าไปกระตุ้นอาการของโรคหรือซ้ำเติมให้โรคนั้นเกิดกำเริบขึ้นเกินการควบคุม

จุดมุ่งหมายของโภชนบำบัด
จุดมุ่งหมายหลักของการทำโภชนบำบัดก็คือช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสมดุลขึ้นจากอาหารการกิน ช่วยลดความรุนแรงของโรคไม่ให้แย่ลงจากปัจจัยกระตุ้นของอาหารที่รับประทาน ช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก และมวลร่างกาย อันส่งผลต่อภาวะตัวลีบในผู้สูงวัย ที่สำคัญยังช่วยพัฒนาให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย ไม่อืดท้อง อาหารย่อยง่าย ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ
ความต่างของโภชนบำบัดกับการควบคุมอาหาร
อ่านมาถึงตรงนี้หลาย ๆ ท่านอาจจะมีคำถามขึ้นในใจว่าโภชนบำบัดแตกต่างยังไงกับการควบคุมอาหาร เอลเดอร์อยากจะบอกอย่างนี้ครับว่าจริง ๆ แล้วโดยหลักการไม่ได้ต่างกันเลย เพราะโภชนบำบัดก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมอาหารที่เราจะต้องมานั่งใส่ใจกับอาหารและกรรมาวิธีการปรุงเพื่อให้เราได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่รับประทานอะไรในปริมาณน้อยหรือมากเกินไป แต่ความต่างคือเป้าหมายของโภชนบำบัดอยู่ที่การ “บำบัดรักษา” โภชนบำบัดจึงเป็นการควบคุมอาหารอย่างหนึ่งแต่เป็นการควบคุมเพื่อลดรักษาและลดความรุนแรงของโรคขณะป่วย เมื่ออาการทุเลาหรือพ้นระยะวิกฤตแล้วก็ถือว่าสิ้นสุดการบำบัดแต่ยังต้องควบคุมอาหารต่อไปเพื่อไม่ให้ร่างกายแข็งแรงและไม่กลับไปสู่ภาวะวิกฤตนั้นอีกครั้ง

หลักการทำโภชนบำบัด
ผู้ที่จะทำโภชนบำบัดจะต้องไม่มีภาวะแทรกซ้อนของโรคและไม่เป็นผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนหลายโรค ที่สำคัญเลยต้องอยู่ในควบความคุมของแพทย์ เมื่อประเมินตัวเองว่าพร้อมแล้วก็ทำตาม 3 ขั้นตอนนี้เลย
1. เตรียมตัวให้พร้อม
ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการโภชนบำบัดเราต้องตรวจเลือดเพื่อเช็คการทำงานต่าง ๆ ก่อนไม่ว่าจะเป็นค่าไขมัน คลอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ ระดับน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงค่าการทำงานของตับและไต เรียกว่าตรวจสุขภาพชุดใหญ่เช็คให้ชัวร์ว่าเราไม่ได้มีปัญหาอะไรแทรกซ้อนและยังเป็นการจดสถิติไว้สำหรับเอาไปเปรียบเทียบหลังจากทำโภชนบำบัดว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด
2. เตรียมครัวให้พร้อม
หลังจากที่กายพร้อมใจพร้อมแล้วก็ถึงเวลาเข้าครัวปฏิบัติการโภชนบำบัดกันได้ เริ่มจากวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบอาหารควรเน้นผักต่าง ๆ เป็นหลัก ส่วนเครื่องปรุงควรงดเว้นน้ำตาลทุกชนิด ถ้าใช้พวกซอสปรุงรส น้ำปลา หรือซีอิ้วขาวก็ควรจะเป็นสูตรลดโซเดียมก็จะดี แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ไตสูญเสียการทำงานก็ต้องระวังนะครับเพราะในเครื่องปรุงพวกนี้แม้ว่าจะลดโซเดียมลงแต่มีโพแทสเซียมสูง หากผู้ป่วยโรคไตรับประทานมาก ๆ อาจทำให้เกิดการคั่งของโพแทสเซียมส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ส่วนโปรตีนแนะนำให้ใช้จากไข่และเนื้อสัตว์ไม่มีมัน หลีกเลี่ยงโปรตีนแปรรูปทุกชนิด

3. เตรียมเมนู
เมนูที่แนะนำควรเน้นการปรุงด้วยวิธีต้ม นึ่ง ย่าง ให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันทุกชนิด ควรบริโภคเนื้อสัตว์หรือโปรตีน 1 ส่วน : ผัก 2 ส่วน แป้งแนะนำให้มาจากข้าวเพียงอย่างเดียวเท่านั้นและควรเป็นข้าวไม่ขัดสีที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ งดขนมปังและ เส้นแปรรูปต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อมูลเบื้องต้นของโภชนบำบัด ซึ่งเมื่อเราปฏิบัติไปได้สักระยะหนึ่งก็ควรไปตรวจเลือดอีกครั้งเพื่อเปรียบเทียบผลกับตอนก่อนทำว่ามีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นยังไงบ้าง ไว้ยังไงในบทความหน้าเอลเดอร์จะพาคุณไปลงลึกถึงรายละเอียดและกรณีศึกษาของการทำโภชนบำบัดกันครับ อย่าลืมมาติดตามกันนะครับ
ที่มา
– https://www.phyathai.com/article_detail/3239/th/โภชนบำบัดคืออะไร?branch=PYT3
– https://www.nakornthon.com/article/detail/โภชนาการในผู้สูงอายุรับประทานอย่างไรถึงจะดี
– หนังสือโภชนบำบัดในทัศนะใหม่สำหรับดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ กองแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข