เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคน โดยเฉพาะคนที่นอนร่วมกันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ เพื่อน พี่น้อง ญาติ หรือคู่สมรส คงมักจะเจอปัญหานี้บ่อยครั้งนั่นคือ “เสียงกรน” ที่ดังสนั่นจนแทบนอนไม่ได้ เรียกได้ว่าใครหลับก่อนคนนั้นชนะเลยทีเดียว ซึ่งหลายๆคนอาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ หาทางแก้ไม่ได้ และมองเป็นเรื่องปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการกรนอาจเป็นสัญญาณที่จะนำไปสู่ ”ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” ได้เลยทีเดียว

สาเหตุการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณลำคอ รวมถึงเพดานอ่อน เกิดการหย่อนหรือคลายตัวมากเกินไปส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกกดทับในขณะหลับ ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณ 10-20 วินาทีก่อนที่จะสะดุ้งตื่น และจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในแต่ละคืน

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

  1. อายุ โดยปกติแล้วภาวะนี้พบได้ในทุกวัย แต่จะพบมาในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายเสื่อมลง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวมากกว่าปกติ
  2. เพศ เพศชายจะมีโอกาสเกิดมากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า แต่สำหรับเพศหญิงวัยหมดประจำเดือนก็มีโอกาสเกิดสูงเช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  3. น้ำหนักตัวเกิน ซึ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิดหรืออ้วนนั้นจะมีไขมันสะสมที่เนื้อเยื่อบริเวณลำดอ จะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง หายใจลำบาก นำไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ถือว่าเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่งครับ เพราะภาวะดังกล่าวนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคภัยต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งอันตรายที่เกิดจากภาวะหยุดหายใจในขณะหลับนี้ เอลเดอร์ขออธิบายอย่างเป็นขั้นตอนให้เข้าใจง่ายๆนะครับ 

โดยปกติแล้วการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของเราจะถูกขับเคลื่อนด้วยออกซิเจน และร่างกายเราก็จะขับของเสียที่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซทั้ง 2 ชนิดนี้ ร่างกายของเรารับและปล่อยออกด้วยการหายใจใช่ไหมครับ แม้ในขณะที่เราหลับร่างกายก็ยังคงรับและปล่อยก๊าซอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นแม้ใช้ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็ส่งผลให้ร่างกายของเราเกิดภาวะออกซิเจนในเลือดลดลง มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงขึ้นเพราะหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นในการเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น และสมองจะสั่งการให้ร่างกายตื่นขึ้นจากการนอนหลับ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่บางคนสะดุ้งตื่นกลางดึกบ่อยๆครับ

เมื่ออาการเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆในแต่ละคืน ทำให้ผลที่ตามมาคือ เมื่อเราตื่นมาจะรู้สึกไม่สดชื่น เพลีย ไม่มีสมาธิ การจดจำไม่ดี เนื่องจากคุณภาพการนอนของเราไม่ดีนั่นเองครับ และในระยะยาวภาวะนี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน การดื้อต่ออิซูนลิน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เห็นแบบนี้แล้วหลายคนเริ่มสงสัยว่าตนเองเป็นหรือไม่ เราลองมาสังเกตอาการจากสัญญาณต่อไปนี้กันครับ

5 อาการบอกถึงสัญญาณอันตราย

  1. นอนกรนเสียงดัง และมักตื่นกลางดึกบ่อยๆเพราะหายใจไม่ออกหรือสำลัก
  2. ตื่นตอนเช้ารู้สึกไม่สดชื่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แม้นอนเพียงพอ 6-8 ชั่วโมง
  3. ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้หลงขี้ลืม หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้าหรือหดหู่ง่าย
  4. รู้สึกง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
  5. ตื่นนอนแล้วรู้สึกคอแห้ง เจ็บคอ

เมื่อตรวจสอบดูแล้ว หากพบว่าเรามีสัญญาณดังกล่าวนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ครับ นอกจากนี้เราควรหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองเพื่อป้องกันหรือเพื่อบรรเทาภาวะนี้ให้ลดลงได้ครับ เอลเดอร์ขอแนะนำวิธีง่ายๆ ดังนี้ครับ

  1. นอนในท่าตะแคงเพื่อเลี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อทางเดินหายใจกดทับครับ
  2. พยายามควบคุมน้ำหนัก และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
  3. หลีกเลี่ยงการทานยากกดประสาท เช่น ยานอนหลับ หรือยาคลายกล้ามเนื้อ
  4. เลิกสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับวิธีป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำตามได้ไม่อย่างเลยใช่ไหมครับ แต่นอกจากวิธีนี้แล้วหากไปรักษากับแพทย์อาจจะมีการแนะนำให้ใช้ เครื่องเป่าความดันลมเพื่อขยายทางเดินหายใจ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) ซึ่งเป็นการสวมใส่หน้ากากที่บริเวณจมูกและปาก เพื่อช่วยส่งอากาศอย่างต่อเนื่องไปยังระบบทางเดินหายใจในขณะที่นอนหลับได้ครับ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก 
https://bit.ly/3qQ0nzn 
https://bit.ly/36ieEez 
https://bit.ly/2VfOZ42 
https://bit.ly/3Azdt8t

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top