อาการเจ็บป่วยนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้บางโรคอาจดูเป็นโรคที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างโรคหลอดเลือดสมองที่มักพบในผู้สูงอายุ โดยสาเหตุเกิดจากหลอดเลือดเสื่อมตามวัย ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับ 2 ของอัตราการเสียชีวิตของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น เป็นแต่กำเนิด เกิดจากอุบัติเหตุ อายุที่มากขึ้น เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง โรคประจำตัว รวมถึงภาวะอื่นๆ ที่ส่งผลต่อหลอดเลือดในสมองได้นำไปสู่อาการหลอดเลือดสมองได้ โรคนี้ถือเป็นโรคร้ายแรงและอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ตั้งแต่มีปัญหาการพูดอย่างพูดไม่ชัด พูดไม่ได้ การชา มีปัญหาการกลืน เป็นต้น

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย เนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร โดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% เกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง

หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อสมองขาดเลือดจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดอาการแสดงต่างๆ ตามมา ระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลายขึ้นอยู่กับความเสียหายของส่วนนั้น เช่น ชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้าและ/หรือบริเวณแขนขาครึ่งซีกของร่างกาย พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มุมปากตก น้ำลายไหล กลืนลำบาก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะทันทีทันใด ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือเห็นครึ่งซีก หรือตาบอดข้างเดียวทันทีทันใด เดินเซ ทรงตัวลำบาก

การรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงและอาการ คือ

การถ่างขยายหลอดเลือด โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่บริเวณขาแล้วถ่างขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนที่ทำหน้าที่เหมือนการขูดตระกรันในท่อน้ำ หรือใส่อุปกรณ์ถ่างขยายที่ทำจากขดลวด (Stent) เหมือนตะแกรงที่ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบซ้ำในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบ ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น

การผ่าตัด การผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimal Invasive โดยใส่สายสวนที่ขาหนีบเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองที่ยังไม่ตายได้ทัน โดยมี Biplane DSA (Biplane Digital Subtraction Angiography) เครื่องเอกซเรย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดทั้งด้านหน้าและด้านข้างในเวลาเดียวกัน ช่วยให้แพทย์ใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการในเวลาอันรวดเร็ว หากลิ่มเลือดมีขนาดเล็กสามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดเพื่อละลายลิ่มเลือดอุดตันได้โดยตรง หรือหากลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่ แพทย์สามารถใช้เครื่องมือเกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตัน ทำให้เลือดเลี้ยงสมองได้ทันเวลา นอกจากช่วยลดสารทึบรังสีที่ผู้ป่วยต้องได้รับยังช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด

การฟื้นฟูสุขภาพด้วยวิธีการต่างๆ

การฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ด้วยการทำกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การสื่อความหมาย แนวทางการดูแลผู้ป่วยนั้นจะเป็นไปตามแผนการรักษาของแพทย์ ร่วมกับการออกแบบวิธีฟื้นฟูให้กับผู้ป่วยแต่ละบุคคลตามลักษณะอาการ ระดับความรุนแรง พร้อมกับการตรวจประเมินและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยการทำกายภาพบำบัดการฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยทีมนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์และอุปกรณ์ช่วยในการทำกายภาพบำบัดที่มีศักยภาพ ทั้งนี้การฟื้นฟูที่ดีที่สุดคือตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงระยะเวลา 6 เดือน เพราะช่วง 3 เดือนแรกจะมีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็ว และเริ่มชะลอลง แต่ยังสามารถพัฒนาได้ แต่จะช้ารวมถึงต้องใช้ตัวช่วยเพิ่มเติม

การทำกายภาพบำบัด แบ่งออกเป็นการบริหารร่างกายส่วนต่างๆ ได้แก่

การฝึกในส่วนแขน จะฝึกเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและทิศทางของแขน โดยจะเน้นการเหยียด เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัญหาการเหยียด

การฝึกกลืน ในระยะแรกผู้ป่วยที่ยังดูดกลืนอาหารไม่ได้ ควรใช้สายยางให้อาหารก่อน หลังจากอาการทั่วไปดีขึ้น ควรฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ฝึกกลืนโดยใช้อาหารดัดแปลง ถ้าแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารได้ปลอดภัย และเพียงพอ จึงพิจารณาไม่ใช้สายยางให้อาหาร

การฝึกสื่อสาร เนื่องจากรอยโรคในสมองซีกซ้าย ควบคุมด้านการพูดการใช้และการรับรู้ภาษา ดังนั้นผู้ป่วยอัมพาตซีกขวาอาจมีปัญหาในการสื่อสารไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง พูดไม่ได้ ใช้คำผิด ผู้ป่วยควรได้รับการฝึกเพื่อให้สื่อสารได้มากที่สุด

การฝึกเดิน ฝึกการเดินที่ถูกต้อง และเน้นจำนวนครั้ง ทำซ้ำๆ มากๆ ยิ่งเป็นประโยชน์

อุปกรณ์เสริมช่วยในการบำบัด การทำกายภาพบำบัดในบางกรณีอาจต้องใช้อุปกรณ์ช่วย อาทิ จักรยานปั่นขา เครื่องช่วยพยุง สลิงช่วยยก Biofeedback ที่จะช่วยวิเคราะห์การยืนลงน้ำหนัก ความยาวในการก้าวเท้า ระยะเวลาในการก้าวเท้า และการกระจายน้ำหนักฝ่าเท้าขณะเดินหรือวิ่ง เป็นต้น ซึ่งการเลือกใช้อุปกรณ์จะอยู่ภายใต้การควบคุมของนักกายภาพบำบัด

เวชศาสตร์การสื่อความหมาย อีกหนึ่งความสำคัญในการช่วยฟื้นฟูผู้ป่วย นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายถือเป็นนักแก้ไขการพูด จะเข้ามามีส่วนช่วยในการฝึกเรื่องการกลืน สำหรับผู้ที่กลืนไม่ได้ หรือกลืนลำบาก พูดไม่ออก นึกคำพูดไม่ได้ พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง ฟังคนอื่นพูดไม่เข้าใจ เขียนไม่ได้ อ่านไม่ได้ มีปัญหากับตัวเลข จำนวนและการคำนวณ มีปัญหาการสื่อสารและการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน

      อย่างไรก็ตามโรคหลอดเลือดสมองนั้นเมื่อเกิดขึ้นกับผู้ป่วยแล้วมักมีโอกาสหายกลับมาเป็นปกติได้ยาก ดังนั้นการดูแลตัวเองโดยมั่นตรวจเช็กดูการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดสมองช่วยให้สามารถเฝ้าระวังและติดตามความผิดปกติของหลอดเลือดสมองได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้โรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบกับร่างกายและการใช้ชีวิต

เอกสารอ้างอิง
1.   “Stroke Rehab” ฟื้นฟูหลังการรักษา เพื่อให้คนไข้ใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง
2.   การฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและอัมพาต (Stoke)
3.   โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top