วัฒนธรรมการดื่มชานั้นเริ่มขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อราว 2,737 ปีก่อนคริสตศักราช หรือประมาณห้าพันกว่าปีมาแล้ว โดยมีการค้นพบว่าสมุนไพรบางชนิดเป็นพิษแต่ชาสามารถใช้เป็นยาถอนพิษนั้นได้ และด้วยรสชาติและสรรพคุณของชาจึงทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มสากลที่มีการดื่มอย่างแพร่หลายทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ อินเดีย และในไทย

ในปัจจุบันชาไม่ใช่แค่เครื่องดื่มรับแขกหรือดื่มเพื่อสุขภาพเพียงเท่านั้น แต่เป็นเครื่องดื่มที่หลายคนนั้นชื่นชอบด้วยรสชาติที่สามารถผสมเข้ากับเครื่องดื่มอื่นๆ ได้ ชาจึงเป็นเครื่องดื่มที่ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวัน อยากรู้ไหมว่าแต่ละ “ชา” นั้นมีสรรพคุณชั้นยอดอะไร

ชา 6 ชนิดมีประโยชน์ที่หลากหลาย

ชาขาว (White Tea)

ชาขาว หลังจากเก็บเกี่ยวนั้นต้องรีบนำมาตากแดดให้แห้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีแบบดั้งเดิม โดยไม่ผ่านการหมักบ่ม กลิ่นและรสชาติของชาขาวนั้นมีความสดชื่นและนุ่มนวล  มีสรรพคุณช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และช่วยปรับปรุงหลอดเลือดให้สามารถไหลเวียนได้ดี

ชาเขียว (Green Tea)

ชาเขียว มาจากยอดอ่อนของใบชานำไปอบแห้งทันที ไม่ผ่านการหมัก เพื่อไม่ให้ใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับออกซิเจน ทำให้ได้ใบชาที่ยังมีสีเขียว มีรสชาติ สี และกลิ่นที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด สรรพคุณชาเขียว ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ ทำให้หัวใจและหลอดเลือดไหลเวียนได้ดี รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

ชาอู่หลง (Oolong Tea)

ชาอู่หลง มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ชามังกรดำ” เป็นชาที่ได้มาจากใบชนิดเดียวกับชาเขียว เพียงแต่ผ่านการหมักมากกว่า หรือที่เรียกว่า ”กึ่งหมัก” มีสรรพคุณรักษาและป้องกันโรคมากมาย เช่น ลดความอ้วน รักษาและป้องกันโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และอาจช่วยพัฒนาการทำงานของสมองได้

ชาแดง หรือชาดำ (Black Tea)

ชาดำ เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์ด้วยวิธีการบ่มเพาะอาศัยแบคทีเรียเป็นตัวทำปฏิกิริยา บ่มนานยิ่งได้รสชาติมากขึ้น มีสรรพคุณชาช่วยการย่อยอาหาร ลดคอเลสเตอรอล และลดการดูดซึมไขมันในลำไส้

ชาสมุนไพร (Herbal Tea)

ชาสมุนไพรนั้นทำมาจากสมุนไพร ผลไม้ ดอกไม้ และสมุนไพรตากแห้ง นำมาผ่านการชงนั้นเหมือนกับการชงชาทั่วๆ ไปนั่นเอง ชาชนิดนี้ไม่มีคาเฟอีน สมุนไพรที่นิยมนำมาชงชาสมุนไพรนั้น ได้แก่ ดอกกระเจี๊ยบ เก๊กฮวย มะตูม ใบหม่อน ใบบัวบก ตะไคร้ ขิงใบเตย มะรุม ฯลฯ ซึ่งสรรพคุณของน้ำชานั้นก็จะขึ้นอยู่กับสมุนไพรที่นำมาทำ เช่น เก๊กฮวยช่วยดับกระหาย ช่วยบำรุงโลหิต ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรที่อ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนัก เพราะจะผสมยาระบายที่อาจเป็นพิษต่อร่างกายของเราได้

ชาเขียวมัทฉะ (Matcha Green Tea)

ผงชาเขียวมัทฉะ ผลิตจากใบชาเขียวอ่อน เป็นใบสดที่นำมาบดเป็นผง ผงชาจะมีตัวคลอโรฟิลล์อยู่ซึ่งเป็นสารที่ช่วยกำจัดสารพิษในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

มาดูกันสิว่าใน ชา นั้นมีคาเฟอีนมากน้อยแค่ไหน

แม้ชาจะขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ดูมีปริมาณคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย จริงๆ แล้ว ชา มีคาเฟอีนที่แฝงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนจึงควรรู้ไว้

  •  ชาเขียวมัทฉะ  มีคาแฟอีน 60-80 มก./แก้ว
  •  ชาดำ หรือ ชาแดง มีคาแฟอีน 40-80 มก./แก้ว
  •  ชาอู่หลง มีคาแฟอีน 40-60 มก./แก้ว
  •  ชาเขียว มีคาแฟอีน 20-50 มก./แก้ว
  •  ชาขาว มีคาแฟอีน 8-20 มก./แก้ว
  •  ชาสมุนไพร มีคาแฟอีน 0 มก./แก้ว

ทั้งนี้มีงานวิจัยหนึ่งพบว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาอู่หลง ชาเขียว และกาแฟ อาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้เช่นเดียวกัน โดยควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสม

ชาสำหรับการตื่นตัว

สำหรับชาเขียวเป็นทางเลือกธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพมากกว่ากาแฟ โดยชาเขียวมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มพลังงาน รวมถึงมีคาเฟอีนในชาเขียวมีระดับต่ำเมื่อเทียบกับกาแฟ แต่จะได้รับปริมาณคาเฟอีนในปริมาณที่พอเพียงให้รู้สึกตื่นตัวโดยไม่ต้องเพิ่มแคลอรี่ที่ไม่ต้องการและลดผลเสียต่อสุขภาพ

ชาสำหรับช่วงเวลาผ่อนคลาย

ชาคาโมมายล์ หนึ่งในดอกไม้ที่คนนิยมนำมาทำให้แห้งแล้วชงดื่มเป็นชา มีสรรพคุณในเรื่องการช่วยให้นอนกลับสนิท เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า Apigenin มีคุณสมบัติลดความเครียด ทำให้ง่วงนอน ลดอาการนอนไม่หลับ จากการศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้หญิงหลังคลอดดื่มชาคาโมมายล์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ต่อเนื่อง สะดุ้งตื่นนอนตอนกลางคืนน้อยลง และนอนหลับเร็วกว่าผู้ที่ไม่ได้บริโภค

เทคนิคการดื่มชาให้ได้ประโยชน์

เครื่องดื่มชามีทั้งคุณและโทษต่อร่างกาย หลายท่านยังไม่ทราบว่า การชงชาด้วยน้ำร้อนจัดจะทำลาย สารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ แนะนำว่าหากต้องการชงชาแบบร้อน สามารถชงชาด้วยน้ำอุ่น ซึ่งจะยังคงรักษาสารอาหารต่างๆได้

ที่สำคัญการดื่มน้ำชาไม่ว่าจะชาร้อนหรือชาแช่เย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำนมสด นมข้นหรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการดื่มชาเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วนๆ ไม่ควรปรุงแต่ง

เอกสารอ้างอิง
1.   ชาร้อน ชาเย็น ประโยชน์/โทษ ต่อสุขภาพ
2.   ดื่มชาเวลาไหนดี? ได้ประโยชน์สูงสุด
3.   ชาอู่หลง สรรพคุณสมคำร่ำลือ จริงหรือหลอก ?
4.   สงสัยไหมว่าชาที่เราดื่มกันนั้นมีกี่ประเภท??
5.   ดื่มชาเขียวยามเช้าแทนกาแฟดีหรือไม่

บทความอื่นๆ

ปัญหาท้องอืด เอลเดอร์เชื่อว่าหลายๆคนประสบปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นสูงวัยมาทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาท้องอืด และมาร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารกันครับ
ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้สูงอายุ เอลเดอร์เชื่อว่าหลายท่านคงยังไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ แต่โรคนี้เป็นโรคอันตรายใกล้ตัวอย่างมากที่ผู้สูงอายุไม่ควรละเลย
error: Content is protected !!
Scroll to Top